ก.ยุติธรรม จับมือหลายหน่วยงานเตรียมออกมาตรการรองรับบิทคอยน์-คุมการฟอกเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday March 3, 2018 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการ "Bitcoin กับมาตรการกำกับดูแล" ว่า ได้เชิญผู้บริหารกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สภาทนายความ ระดมความเห็นออกมาตรการรองรับเบื้องต้นก่อนที่จะมีกฎหมายออกมาควบคุมดูแล เพราะการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลจากต่างประเทศ เริ่มแพร่กระจายเข้ามายังในประเทศ ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ เพื่อป้องกับความเสี่ยง ความเสียหายเกิดกับนักลงทุนรายย่อย เพราะนักลงทุนรายใหญ่มีความรู้ดูแลตนเองได้ แต่นักลงทุนรายย่อยจะมีความเสี่ยงและเสียประโยชน์ได้ เพราะเทคโนโลยีการเงินแนวใหม่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส

นอกจากนี้ ยังมีเงินผิดกฎหมายใช้โอกาสในการฟอกเงิน หลายหน่วยงานจึงต้องติดตามเส้นทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย โดยในวันอังคารที่จะถึงนี้ จะนำผลหารือเสนอแนวคิดในการยกร่างกฎหมายควบคุมดูแล เสนอต่อที่ประชุมหลายหน่วยงานทั้ง คลัง ธปท., สำนักงาน ก.ล.ต.,สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อยกร่างกฎหมายควบคุมดูแล

นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การระดมทุนผ่าน ICO หากไม่เปิดเวทีให้ซื้อขายถูกต้องจะหลบไปอยู่ใต้ดินและยิ่งเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจเหมือนกับหวยใต้ดินซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากห้ามในเมืองไทยผู้ออก ICO จะหนีไปออกในต่างประเทศ ก่อนที่จะมีกฎหมายกำกับดูแล ยังมีช่องทางควบคุมดูแลได้ ผ่านกฎหมาย ปว.58 เพื่อออกกฎหมายลูกมาดูแลเบื้องต้น กำกับผ่านการขึ้นทะเบียน การแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาท หรือสกุลต่างๆ เพราะควบคุมผ่านการซื้อขายคงทำได้ยาก โดยเฉพาะการกำหนดให้รายการการรับจ่ายเงิน เพื่อให้ ปปง.ติดตามดูแลเส้นทางการเงินนอกกฎหมาย

รวมทั้ง กรมสรรพากรต้องเริ่มศึกษาจัดเก็บภาษีจากสกุลดิจิตอลได้ เนื่องจากต่างประเทศจัดเก็บภาษีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีอีคอมเมิร์ซ ในอัตราเหมาะสม หากสูงเกินไปอาจหนีไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะหากตีความว่า Cryptrocerency มีมูลค่าทางการเงินสกุลเงินบาท จึงควรเริ่มหาช่องจัดเก็บภาษี แม้ ธปท. ยังไม่รับรองว่าเป็นเงินตรา หรือตราสารทางการเงิน และเปลี่ยนไม่ได้ แต่ในช่วงแรก อาจมอบหมายให้ ก.ล.ต.ควบคุมดูแล แต่ในที่สุดคงต้องมีองค์กรควบคุมดูแลเรื่องสกุลจิตอลเพิ่มเติม

พ.อ.เศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า หลังจากจีน เกาหลี และหลายประเทศพัฒนาเทคโยโลยีก้าวหน้าไปอย่างมาก เมื่อเปลี่ยนเทคโนโลยี่เข้าสู่ระบบ 4G ก้าวสู่ระบบ 5G จึงต้องออกกฎระเบียบดูแล เพราะเทคโนโลยี 5G เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคการเงิน โทรคมนาคม และภาคต่างๆ นับเป็นการเปลี่ยนแพลทฟอร์มเทคโนโลยีใหม่จาก ATM, Smartphone, Blockchain สู่ Cryptrocurrency การระดมทุน ICO หากถูกปิดกั้นในประเทศ กลุ่มผู้ระดมทุนเหล่านี้จะกระโดดไปประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ เกาหลี จีน หรือประเทศอื่นๆ

การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มในหลายวงการ เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังสร้างขึ้นมาใช้โหวตความนิยมของนักการเมือง การเลือกตั้ง ในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะมีเอกชนสร้างแอบพลิเคชั่นขึ้นมาใช้ประโยน์ทางการเมือง รวมทั้ง การจำหน่ายเพลงดังของนักร้องที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท Blockchain กำหนดจำนวนเพลงเพื่อจำหน่ายในตลาด เช่น กำหนดขายเพียง 1 ล้านเพลงเท่านั้นไม่เพิ่มจำนวนอีกเลย ในราคาที่กำหนดในสกุลดิจิทัลต่างๆ เพื่อขายเพลงโดยตรงกับลูกค้าทั่วโลก หากใครฟังเพลงเบื่อแล้วขายต่อให้กับคนอื่นในราคาเพิ่มขึ้นเพื่อเก็งกำไรอีกต่อหนึ่ง เพราะระบบ Blockchain กำหนดให้เพลงที่ผลิตออกมาไม่สามารถ Copy ได้เหมือนซีดีเพลงปัจจุบัน การออกมาตรการมาควบคุมดูแลจึงต้องตามให้ทันกับกระแสโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ