บอร์ด PPP เห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A, 3 โครงการขนาดกลาง รวมมูลค่า 2.2 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 7, 2018 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 1/2561 ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อแปลง A ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พื้นที่พัฒนาได้ประมาณ 32 ไร่ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ในรูปแบบสร้าง – บริหาร – โอน (BOT) ระยะเวลาดำเนินธุรกิจ 30 ปี และระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.54 หมื่นล้านบาท ซี่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมขนส่งพหลโยธิน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้พื้นที่บริเวณศูนย์คมนาคมขนส่งพหลโยธินเป็นศูนย์กลางการเดินทางและย่านธุรกิจแห่งใหม่ด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่แปลง A ยังช่วยเพิ่มรายได้ที่ไม่ใช่รายได้หลัก (Non Core) และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินทางการเงินของ รฟท. ได้ด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP เห็นชอบให้โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการขนาดกลาง (วงเงินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท) จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 7,383 ล้านบาท โดยให้ไปดำเนินการดังนี้

1. ให้โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่าโครงการ 2,700 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ)

2. ให้โครงการพัฒนาที่ดินคลังพัสดุคลองเตย ของบมจ. ทีโอที มูลค่าโครงการ 3,147 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พ.ศ. 2559 (ประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท)

3. ให้โครงการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชบ. 350 (บริเวณสนามกอล์ฟบางพระ) ของกรมธนารักษ์ มูลค่าโครงการ 1,536 ล้านบาท ดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการ PPP สำหรับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP ยังเห็นชอบให้เพิ่มเติมโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เข้ามาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 32,600 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นของเมืองหลัก โดยขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกำหนดเวลา

ทั้งนี้ ทำให้โครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ทั้งหมด 12 โครงการ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นรวม 966,800 ล้านบาท โดยในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track นำเสนอคณะกรรมการ PPP จำนวน 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 406,874 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและตะวันออก 195,642 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 131,172 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ 80,060 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ PPP ได้เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการประเมินทางเลือกการลงทุน (Value For Money: VFM) ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนฯ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ในการประเมิน ความคุ้มค่า และตัดสินใจระหว่างการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐกับภาครัฐดำเนินโครงการเองโดยการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรืองบประมาณของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ