รัฐบาลเข็นมาตรฐานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ใน 1 ปี ลดใช้สำเนาเอกสาร-ทำระบบจองคิวออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 12, 2018 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เผยผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเสนอมาตรการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใน 1 ปี ซึ่งประกอบด้วย มาตรการบริการประชาชน ปรับให้ตรงกับความต้องการประชาชนมากขึ้น ลดภาระเอกสาร โดยลดการใช้สำเนาเอกสารในการทำธุรกรรมกับราชการภายใน 6 เดือน เริ่มจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำนักทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนการค้า โดยให้ราชการจะดาวน์โหลดได้เองจากต้นทางหน่วยงานเจ้าของสำเนา, การทำระบบจองคิวออนไลน์ จากบริการที่ประชาชนต้องไปรอคิวนานหรือมีความลำบากในการไปรับคิว อาทิ คิวรับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ การอำนวยความสะดวกในการหาสถานที่เพื่อใช้บริการภาครัฐ โดยจะกำหนดวันที่เหมาะสมเป็นวันปักหมุดแห่งชาติ โดยให้ตัวแทนหน่วยราชการทุกหน่วยที่มีบริการให้กับประชาชนจะต้องปักหมุดสถานที่ให้บริการของรัฐโดยปักบนแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ก่อนจะนำข้อมูลไปเปิดเผยให้ประชาชนสามารถค้นหาสถานที่ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของตัวเอง และใช้เชื่อมต่อเข้ามาดูลายละเอียดในการใช้งานของหน่วยราชการทุกหน่วยได้

นอกจากนี้จะออกมาตรฐาน ERP กลางของภาครัฐ (ERP:Enterprise Resource Planning คือ การวางแผนการลงทุนและการวางแผนการใช้ทรัพยากรขององค์กร เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับองค์กร ครอบคลุมตั้งแต่ระบบงบประมาณ แผนงานโครงการ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบบริหารทรัพย์สินฯ) เพื่อทำให้ระบบ ERP ของหน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงกันได้ การกำหนดมาตรฐานจะทำโดย สรอ.เพื่อดูว่าระบบ ERP ที่เอกชนไปให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐมีระบบอะไรบ้าง หากจะทำมาตรฐานให้ทุกระบบเชื่อมโยงกันได้จะทำอย่างไร จากนั้นจะให้ทุกหน่วยงานราชการที่มีระบบ ERP เชื่อมโยงกัน

ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบการพัฒนาระบบบูรณาการยุทธศาสตร์แผนงานโครงการและตัวชี้วัด เพื่อทำ Single Report ให้ผู้บริหารประเทศใช้ในการกำหนดนโยบายโดยระยะสั้น เมื่อบูรณาการระบบได้แล้วจะทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถเห็นรายละเอียดในการทำโครงการต่างๆ โดยดูในรายละเอียดทั้งงบประมาณ รายละเอียดโครงการ โครงการนี้จะต้องใช้เวลา 2-3 ปี โดยปีแรกรัฐบาลต้องการลดความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานราชการ

ส่วนด้านความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ (Government Secure Intranet: GSI ) โดยทำให้โครงสร้างพื้นฐานระบบภาครัฐมีความปลอดภัย มีลักษณะเป็นระบบปิดที่เชื่อมโยงกันภายในหน่วยงานภาครัฐ โดยทุกหน่วยงานจะต้องทำระบบคลาวด์และระบบอินเทอร์เน็ต ผู้รับผิดชอบดำเนินการคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทั้งนี้ในอนาคตการใช้บริการคลาวด์และอินเทอร์เน็ตของหน่วยราชการทุกหน่วยจะใช้งานตามจริง IT Service as Utility เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้ทรัพยากรตามจริง โดยสำนักงานประมาณจะต้องเป็นผู้ช่วยให้หน่วยรายการวางระบบงบประมาณใหม่ ขณะที่ สรอ.จะเข้าไปช่วยวางระบบไอที เมื่อระบบจีเอสไอสมบรูณ์ จะเกิดความปลอดภัยกับเครือข่ายภาครัฐ ทำให้การดูและความปลอดภัยไซเบอร์ภาครัฐดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะให้หน่วยราชการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการรายลหลักของรัฐ โดยผู้ให้บริการจะช่วยดูแลระบบรักษาความปลอดภัยให้ ถ้าเกิดการโจมตีจะปิดระบบจะปิดการเชื่อมต่อจากภาคนอก เป็นการลดความเสี่ยงจากการโจมตีจากภาคนอก ส่วนการป้องกันความเสี่ยงภายในจะมีกฎระเบียบในการดูแลการทำงานของราชการไม่ให้เกิดความเสี่ยง การพัฒนาจีเอสไอจะใช้เวลาดำเนินการภายใน 1 ปี

"นายกรัฐมนตรีมองการทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์นี้ไม่ได้มีเฉพาะมิติการบริการจัดการภาครัฐ แต่ให้ดูถึงด้านความมั่นคง, สิ่งแวดล้อม, การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาเศรษฐกิจ" นายศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ