สคฝ.ประกาศแผยยุทธศาสตร์ 4 ปีมุ่งสู่องค์กรดิจิทัล เตรียมพร้อมดูแลผู้ฝากเงินตามการปรับลดวงเงินคุ้มครอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2018 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) สำหรับแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี (61-64) สคฝ.มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน ทั้งในส่วนของงานตามพันธกิจและงานสนับสนุนอื่นๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ สคฝ.ได้วางแนวทางการจัดทำแผนงานปี 61 ให้สอดคล้องกับทิศทางและแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี และการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เพื่อตอบสนองการดำเนินงานตามพันธกิจของ สคฝ.อย่างแท้จริง โดยจะเร่งสร้างการรับรู้ของประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบคุ้มครองเงินฝากอย่างยั่งยืน เนื่องจากในปีนี้จะมีการปรับวงเงินคุ้มครองจาก 15 ล้านบาท เป็น 10 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.61 และจะปรับวงเงินคุ้มครองเป็น 5 ล้านบาท ในวันที่ 11 ส.ค.62 และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.63 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองจะปรับเป็น 1 ล้านบาท

"เรายังมีความมั่นใจมากกว่าจะไม่เกิดปัญหาของสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง ดูจาก BIS Ratio ที่สูงถึง 18.19% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 8.5% แต่หากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ เราเชื่อว่าจะสามารถดูแลและคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินได้อย่างทั่วถึง" นายสาทร ระบุ

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 60 ว่า ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2560 มีจำนวน 120,029 ล้านบาท ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 2,915 ล้านบาท หรือเท่ากับอัตราผลตอบแทน 2.48% ต่อปี โดยการลงทุนของ สคฝ.ให้ความสำคัญทั้งความมั่นคง สภาพคล่อง และผลตอบแทน โดยได้ลงทุนทั้งหมดในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ซึ่งเป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด

ทั้งนี้ ในปี 60 ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนผู้ฝากเงิน คือ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนจาก สคฝ.ภายใน 30 วันนับแต่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยไม่ต้องมายื่นคำขอรับเงินแต่อย่างใด มีการกำหนดความชัดเจนของหนี้ที่หักหนี้ก่อนจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงิน หากผู้ฝากเงินมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระเป็นจำนวนแน่นอนก่อน หรือในวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต

กำหนดให้มีอำนาจกู้ยืมเงินโดยตรง นอกจากการออกตราสารทางการเงิน เพื่อให้มีแหล่งเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการจ่ายคืนผู้ฝากเงิน โดยคณะกรรมการควบคุมสถาบันการเงินและ สคฝ.แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมระหว่างกันได้ เพื่อให้การเตรียมการรองรับการจ่ายคืนเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และกำหนดให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เพื่อประโยชน์ในการชำระบัญชี ซึ่งมีผลบังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยว่า สถาบันการเงินที่อยู่ในความคุ้มครองของ สคฝ.มีทั้งหมด 35 แห่ง คิดเป็นจำนวนผู้ฝากเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 74.69 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 59 ส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากประเภทบุคคลธรรมดา โดยเป็นผู้ฝากที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 15 ล้านบาท ตามวงเงินคุ้มครองที่กฎหมายกำหนด อยู่ที่ 99.99% และที่มีวงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ที่ 98.21% ของผู้ฝากทั้งระบบ

ส่วนเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินในปี 60 พบกว่า สถาบันการเงินทั้งระบบมีฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มมาอยู่ที่ 18.19% จาก 18.04% ในปีก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิของสถาบันการเงินทั้งระบบมีจำนวน 1.88 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 59 เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมทั้งเตรียมรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (IFRS9) ที่จะนำมาใช้ในปี 62 สำหรับสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินมีจำนวนทั้งสิ้น 14.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.13% จากปี 59 โดยมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.92%

นายกฤกษฎา เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 61 จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% จากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นมาที่ 0.7-1.7% ตามราคาพลังงานและต้นทุนค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ