กอช. เปิดให้สมาชิก"หักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เข้าบัญชีเงินออม"ผ่าน 5 ธนาคารรัฐ เริ่ม 28 มี.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 28, 2018 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช.เปิดบริการให้สมาชิกวางแผนการออม ผ่านระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ (Direct Debit) ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 61 เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิกได้ออมต่อเนื่อง สร้างวินัยการออม ช่วยลดภาระการเดินทางไปฝากที่หน่วยรับเงิน

ทั้งนี้ การเปิดตัวบริการวางแผนการออมกับ กอช. ผ่านระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ พร้อมธนาคารรัฐ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. ประกาศเจตนารมณ์ร่วมขับเคลื่อนการออมภาคประชาชน เพื่อร่วมส่งเสริมและสนับสนุนด้านวิชาการและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการออมเงิน การวางแผนการเงินเพื่อยามเกษียณ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของ กอช. เพื่อให้ประชาชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา แรงงานนอกระบบ ได้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ กอช. โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจออมและสมัครสมาชิก กอช. มากขึ้น

"โดยเฉพาะระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ จะทำให้ผู้เป็นสมาชิก กอช. จากเดิมต้องไปฝากเงินออมที่หน่วยบริการ จะได้รับความสะดวกในการออมมากขึ้น นำไปสู่การออมอย่างต่อเนื่องและเกิดวินัยการออมกับ กอช. โดยมีรัฐช่วยออมเพิ่มให้อีกทางหนึ่ง พร้อมรับบำนาญ เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ในวัยเกษียณ"

นายสมชัย กล่าวว่า ประชาชนที่เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบยังมีปริมาณการออมเพื่อการชราภาพในระดับที่น้อยมาก มีสาเหตุสำคัญมาจากประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน เมื่อมีเงินจะเลือกใช้จ่ายก่อน พอเหลือจึงเก็บออมไว้ รวมถึงยังขาดการตระหนักรู้และเห็นความจำเป็นการวางแผนทางการเงินที่มั่นคงด้วยตัวเอง โดย กอช. เป็นกลไกหนึ่งของภาครัฐในการขับเคลื่อนการออมภาคประชาชนและสร้างเสริมวินัยการออมแก่แรงงานนอกระบบให้มีการออมเงินที่มากพอ โดยการออมสม่ำเสมอและต่อเนื่องในระยะยาว จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอในวัยเกษียณอายุ ซึ่งผู้สูงอายุควรจะมีเงินใช้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณ โดยในกลุ่มแรงงานนอกระบบยังมีการออมที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มข้าราชการที่มีระบบการออมภาคบังคับ ทำให้ผู้เป็นข้าราชการจะมีเงินออมไว้ใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณ เฉลี่ยร้อยละ 60–70 ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณส่วนแรงงานกลุ่มอื่นมีเงินออมไว้ใช้ในแต่ละเดือนหลังเกษียณอายุ เฉลี่ยเพียงร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือนก่อนเกษียณอายุ

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. เปิดเผยว่า กอช. ได้เปิดบริการให้สมาชิกสามารถออมได้สะดวกและต่อเนื่องแล้ว ผ่านระบบบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เพื่อส่งเป็นเงินสะสมสมาชิก กอช. เข้าในบัญชีกองทุน โดยสามารถหักบัญชีอัตโนมัติได้ตั้งแต่ 50-1,100 บาทต่อเดือน ซึ่งมีธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. ที่เป็นหน่วยบริการ กอช. พร้อมดำเนินการ โดยบัญชีเงินฝากที่ต้องการให้หักอัตโนมัติเพื่อส่งเข้าบัญชีกองทุน จะต้องเป็นบัญชีเงินฝากของธนาคารใดธนาคารหนึ่งใน 4 ธนาคาร และเจ้าของบัญชีเงินฝากต้องไปดำเนินการด้วยตนเอง ได้ที่ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ทุกสาขาทั่วประเทศ และไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารที่สมัครสมาชิก กอช. ไว้ ซึ่งเจ้าของบัญชีเงินฝากไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก กอช. ก็ได้ เช่น ผู้ปกครองที่เป็นข้าราชการสามารถแจ้งให้หักบัญชีเงินฝากตนเองเข้าบัญชีเงินออม กอช. ของสมาชิกที่เป็นลูกหลานได้ โดยระบบจะดำเนินการหักเงินอัตโนมัติทุกวันที่ 20 ของแต่ละเดือน หากบัญชีเงินฝากมีเงินไม่เพียงพอตามจำนวนที่แจ้งไว้ให้หักอัตโนมัติ ระบบจะไม่นำไปสมทบเป็นยอดการหักบัญชีอัตโนมัติในเดือนถัดไป

"สำหรับบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เพื่อเข้าบัญชีเงินออม กอช. นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จที่ กอช. ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับภาคีธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกให้สมาชิก กอช. ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาส่งเงินออมที่หน่วยบริการ แต่ยังสามารถออมกับ กอช. ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรัฐช่วยสมทบเงินออมนั้นด้วย นำไปสู่การช่วยเสริมสร้างให้สมาชิก กอช. ได้มีเงินก้อนหนึ่งจากการออมสามารถใช้พึ่งพาตนเองได้หลังเกษียณอายุ ซึ่งช่วยลดภาระการดูแลของรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งการออมของประชาชน คืออนาคตของชาติ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ