แบงก์ออมสิน-ตลท. ช่วย SME-Startup ต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่ง หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 30, 2018 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุน ในโครงการ SMEs Private Equity Trust Fund กองที่ 1 และกองที่ 2 โดยกองที่ 1 จะเป็นลักษณะการเพิ่มทุนในบริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจสร้างระบบ CRM (Customer Relationship Management) สำหรับลูกค้า SME และระดับ Corporate ในประเทศไทย มีบริการจัดการระบบ CRM ,ระบบ POS ,Loyalty Card,Customer Analytics ,การวางรีวอร์ดโปรแกรม และการเป็นที่ปรึกษาสำหรับลูกค้าในด้านการตลาด ซึ่งกองทุนฯ ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทนี้ตั้งแต่ปี 59 เป็นเงิน 10 ล้านบาท และในครั้งนี้ SMEs Private Equity Trust Fund ธนาคารออมสิน กองที่ 1 มีบริษัท N-Vest Venture เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ ได้ร่วมลงทุนเพิ่มอีก 10 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ

ปัจจุบัน ช็อกโก้ คาร์ด มีสมาชิกร้านค้ามากกว่า 1 พันร้านค้า มีผู้ถือบัตรสมาชิก "ช็อคโก้ คาร์ด" มากกว่า 8 แสนราย และมีมูลค่าการทำรายการรวมกันกว่า 2.5 พันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการร่วมพัฒนาระบบเพื่อสะสมแต้มแลกของรางวัลให้กับลูกค้าของธนาคารออมสินที่ใช้บริการ MyMo Mobile Application และจะพัฒนาต่อยอดในผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ SMEs Private Equity Trust Fund ธนาคารออมสิน กองที่ 2 ที่มี Expara Thailand เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ จะร่วมลงทุนในวงเงิน 10 ล้านบาท กับบริษัท PUNN Intelligent เจ้าของแบรนด์ "Peakengine" ซึ่งเป็นผู้ผลิตโปรแกรมบัญชีออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Cloud อำนวยความสะดวกให้การทำงานบัญชีมีความรวดเร็ว และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เข้าใช้งานง่าย ลดงานบัญชีและเอกสาร ใช้งานข้อมูลทางการเงินได้มากขึ้น ทำให้ทราบว่าเงินเข้าออกเมื่อใด ส่วผลดีต่อการวางแผนบริหารจัดการเงินสด ช่วยให้ประหยัดต้นทุนการทำบัญชีได้สูงถึงเดือนละ 9 พันบาท ทำให้ลูกค้า SME สามารถเห็นตัวเลขทางการเงินในแต่ละเดือนและประมาณการใช้เงินล่วงหน้าได้ และเมื่อมีข้อมูลทางการเงินที่ดีจะทำให้สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบัน "Peakengine" มีผู้ใช้งานกว่า 4 พันราย และมียอดรายการค้าที่สร้างผ่านระบบกว่า 800 ล้านบาทต่อเดือน

อนึ่ง ธนาคารออมสินได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน SMEs Private Equity Trust Fund จำนวน 3 กอง วงเงินลงทุน 2 พันล้านบาท โดยการลงทุนของกองทุนดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ SME ระยะเริ่มต้น (Start-up Stage) ที่มีศักยภาพสูง ,SME ที่เป็น Supplier ธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ หรือเป็นสมาชิกของสภาหอการค้าไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ และ SME ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยปัจจุบันมีการอนุมัติร่วมลงทุนไปแล้วจำนวน 9 ราย คิดเป็นวงเงิน 275 ล้านบาท

นายชาติชาย กล่าวว่า ขณะที่ SME Start-up มีการอนุมัติเบื้องต้นไปแล้วจำนวน 6 ราย วงเงินประมาณ 130 ล้านบาท ประกอบด้วยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ,การท่องเที่ยว ,Digital Media,ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ Fintech อีกทั้งยังอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่ออนุมัติวงเงินอีก 14 ราย คิดเป็นวงเงิน 865 ล้านบาท แบ่งเป็น ประเภทธุรกิจ Fintech จำนวน 6 ราย วงเงิน 400 ล้านบาท ,ธุรกิจเทคโนโลยี จำนวน 3 ราย วงเงิน 200 ล้านบาท ,ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 ราย วงเงิน 100 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น การศึกษา,แฟชั่น รวมจำนวน 3 ราย วงเงิน 165 ล้านบาท คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ทั้งหมด

ด้านน.ส.รุ่งทิพย์ เจริญวิสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานการตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ 2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ SME และ Startup สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน "To make the Capital Market ‘Work’ for Everyone"

ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ SME และ Startup ให้มีความแข็งแกร่งและการเติบโต โดยการให้ความรู้ การกระตุ้นบุคคลากรภาคตลาดทุนให้เห็นถึงความสำคัญด้านนวัตกรรม การสร้าง LiVE platform เป็นช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงความร่วมมือกับธนาคารออมสินในการร่วมลงทุนในธุรกิจ SME และ Startup ผ่านโครงการ SMEs Private Equity Trust Fund จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งพร้อมเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME และ Startup ที่จะเป็นรากฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ