ที่ประชุม AFCDM+3 ชี้อาเซียนยังมีความเสี่ยงเงินไหลออก แนะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน,ใช้นโยบายการคลัง-ภาษีลดเหลื่อมล้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 4, 2018 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมกับรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2561 และ 2562 ไว้ที่ 3.9% โดยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียที่ 6.5% ในปี 2561 และ 6.6% ในปี 2562 ทั้งนี้ เศรษฐกิจเอเชียยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ปัจจัยบวกของการเติบโตเศรษฐกิจเอเชีย โดยหลักมาจากภาคการส่งออกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องหนี้ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากตลาดการเงินและนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของตลาดและการปรับตัวอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน และมาตรการตอบโต้จากจีนจะส่งผลให้มูลค่าการผลิตการส่งออกโดยรวมของทั้งสหรัฐฯ และจีนลดลง และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งสองมหาอำนาจในท้ายที่สุด

พร้อมกันนี้ ถึงแม้ในปัจจุบันระบบการเงินยังคงมีเสถียรภาพ แต่จากการที่ภูมิภาคอาเซียน+3 มีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน จึงมีความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอกที่อาจทำให้เงินทุนไหลออก ในการนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เสนอให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยใช้นโยบายการคลังและภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาระบบสวัสดิการสังคม พัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะของแรงงานให้ตอบสนองต่อนวัตกรรมด้านการผลิตและอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เสนอให้ประเทศสมาชิกกระจายการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจ โดยผสมผสานภาคการผลิตและภาคบริการ ปรับปรุงการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกภาคการค้าและการลงทุน ตลอดจนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะบริการด้านการเงิน

ในส่วนของประเทศไทย AMRO เห็นว่า ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการที่นักลงทุนต่างชาติถือตราสารหนี้ระยะสั้นในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินทุนไหลออกจากการที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จะช่วยลดความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ AMRO สนับสนุนให้ไทยดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบขยายตัวต่อไป

ผู้บริหารของกระทรวงการคลังและธนาคารกลางในที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่า การดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้าในลักษณะเดียวกับมาตรการของสหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยที่สมาชิกไม่สนับสนุนแต่ไม่สามารถควบคุมได้ การแข่งกันออกมาตรการปกป้องทางการค้าจะยิ่งส่งผลให้เกิดสงครามทางการค้า สมาชิกจึงควรเร่งขยายและกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดต่างๆ รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างภายในประเทศให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ในประเด็นการเพิ่มศักยภาพของ AMRO ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงบประมาณและแผนงานด้านบุคลากรปี 2562 รวมถึงข้อเสนอนโยบายต่าง ๆ ของ AMRO ประกอบด้วย (1) นโยบายด้านการสื่อสารกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านกลไกภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) (2) นโยบายการจัดทำร่าง Partnership Strategy และ Transmittal Policy เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประสานงานและความร่วมมือ รวมทั้งข้อมูลและเอกสารกับองค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรอื่น ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นองค์กรด้านการระวังทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค (3) AMRO Annual Consultation Report 2017 และ ASEAN+3 Regional Economic Outlook และ (4) ผลการประเมินตามกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของ AMRO (Performance Evaluation Framework: PEF) และผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ AMRO (Director Junhong Chang จากจีน) รอบปี 2017 โดยมีผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ