(เพิ่มเติม) ธนาคารโลก คาดศก.ไทยปีนี้โต 4.1% สูงสุดนับตั้งแต่ปี 55 โดยภาคส่งออกเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 9, 2018 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (World Bank) เปิดเผยว่า จากรายงานติดตามเศรษฐกิจประเทศไทยล่าสุด พบว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวได้ 4.1% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ในขณะที่การเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกยังคงเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณว่าการบริโภคในประเทศกำลังฟื้นตัว การปฏิรูประเบียบและเสถียรภาพของนโยบายโดยรวมต่างช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังมองว่าประเทศไทยยังมีโอกาสจะดึงดูดผู้ประกอบการที่มีคุณภาพสูง และส่งเสริมการลงทุนด้านนวัตกรรม ทั้งจากในประเทศและนอกประเทศด้วยการดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับนวัตกรรม โดยจากดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2560 จัดให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 จาก 128 ประเทศทั่วโลก

"แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดี แต่ก็ยังล้าหลังกว่าประเทศคู่แข่ง และประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายได้ปานกลาง ทำให้ไทยต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปเรื่องการศึกษาและทักษะให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แต่กลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงการปฏิรูปการแข่งขันด้านการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่ยังมีการกีดกันบางสินค้า โดยควรให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น" นายอูลริค กล่าว

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ดีเพราะมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 6% ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบสงครามการค้าแต่คาดว่าไม่กระทบกับประเทศไทยมาก เนื่องจากการส่งออกไปในกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวดี สามารถชดชยการส่งออกที่จะลดลงจากผลกระทบได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 58 รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่กระเตื้องขึ้น จากที่หยุดนิ่งมาหลายปี โดยเบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา จากการเบิกจ่ายของภาครัฐที่เคยล่าช้าในช่วงที่ผ่านมา เริ่มเดินหน้าได้

"เศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 80% ของ GDP ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดในการใช้จ่าย รวมถึงความล่าช้าในการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็นปัญหาต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ