สสมาคมรับสร้างบ้าน เผย Q1/61 ตลาดโตน่าพอใจ แต่การแข่งขันยังรุนแรงท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2018 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เผยภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านและการแข่งขันในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.61) โดยรวมน่าพอใจ ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมการตลาดที่ผู้ประกอบการแข่งขันกันจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออฟไลน์และออนไลน์ การจัดอีเวนท์งานบ้านและวัสดุในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือแบบบ้านเทรนด์ใหม่ๆ สู่ตลาด เป็นต้น

"ผลลัพธ์ยอดขายที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการชั้นนำหลายรายที่ประกาศตัวเลขออกมาค่อนข้างสวยหรู" นายสิทธิพร กล่าว

สมาคมฯ ประเมินความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคและประชาชนทั่วประเทศ ประเภทบ้านเดี่ยวสร้างเองในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวและเติบโตใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 3.8-3.9 พันล้านบาท ส่วนทั้งปี 61 นี้คาดว่ามูลค่าตลาดรวมบ้านสร้างเองทั่วประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน จะมีส่วนแบ่งตลาด 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาพรวมการแข่งขันพบว่ายังคงมีความรุนแรง ทั้งในแง่การสร้างความน่าเชื่อถือ และทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งขันด้วยกันเอง รวมทั้งการแข่งขันตัดราคาของผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหม่ๆ ซึ่งสวนทางกับต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะยังไม่แสดงให้เห็นผลกระทบชัดเจนมากนักในช่วงครึ่งปีแรก หากแต่จะปรากฏผลในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อผู้ประกอบการเริ่มก่อสร้างและใกล้ส่งมอบงาน ซึ่งคงจะต้องเฝ้าจับตาและประเมินสถานการณ์ที่เป็นจริงอีกครั้งในครึ่งปีหลัง" นายสิทธิพร กล่าว

แนวโน้มไตรมาสที่สองของปีนี้ ตลาดรับสร้างบ้านมีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อยังดีต่อเนื่อง หากแต่ผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวเอง เพื่อยกระดับและหนีมุมมองธุรกิจรับสร้างบ้านของผู้บริโภคที่ว่า "ยุ่ง ช้า ห่วย" คือ 1.การให้บริการมีขั้นตอนยุ่งยาก 2.การก่อสร้างบ้านใช้ระยะเวลานาน และ 3.บ้านที่สร้างไม่มีคุณภาพที่แน่นอน

"ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจนี้ควรหาทางและร่วมมือกันปฏิวัติวงการรับสร้างบ้าน ก่อนที่ผู้บริโภคจะหนีไปใช้ตัวเลือกอื่นแทน เช่น บ้านจัดสรร คอนโดฯ และผู้รับเหมา ฯลฯ" นายสิทธิพร กล่าว

แม้ทิศทางตลาดรับสร้างบ้านจะปรับตัวดีขึ้นในระยะ 3-6 เดือนที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านก็ไม่ควรประมาทต่อแนวโน้มต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา บรรดาผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง หลายรายต่างทยอยขอปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้ผลิตวัสดุโครงสร้างและซีเมนต์ราคาปรับขึ้นเฉลี่ย 3-5% และกลุ่มวัสดุตกแต่งราคาปรับขึ้น 10-20% ฯลฯ ฉะนั้นหากผู้ประกอบการรายใดมียอดขายหรือออเดอร์สะสมค้างอยู่จำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงสูงหรือกลายเป็นทุกขลาภ เมื่อต้องขายบ้านราคาเดิมแต่กลับเผชิญกับต้นทุนใหม่ที่ราคาปรับตัวขึ้นนำหน้าไปก่อนแล้ว

ทั้งนี้ จากการสุ่มสำรวจตัวอย่าง สมาคมฯ พบว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ยังคงยืนราคาขายเดิมหรือไม่มีการปรับราคาในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกให้เห็นถึงปัญหาและความเสี่ยงการบริหารต้นทุนในอนาคต หากว่าผู้ประกอบการรายใดไม่มีอำนาจต่อรอง กับผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่แห่ปรับขึ้นราคากันทั่วหน้า นอกจากนี้ค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นอันมีผลมาจากปัญหาขาดแคลนแรงงานก็ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังต้องเผชิญและแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวจึงบีบให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาบ้านตามกัน

สมาคมฯ ประเมินว่าผู้ประกอบการคงไม่อาจหลีกเลี่ยงต้นทุนค่าก่อสร้างใหม่ได้ และจำเป็นต้องเร่งปรับตัวหรือหาทางออก เพื่อมิให้ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะการหาทางลดต้นทุนค่าบริหารจัดการและค่าการตลาดลง อาจนำเทคโนโลยีก่อสร้างและเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่มาใช้งานมากขึ้น ใช้การตลาดออนไลน์เพื่อจะสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ฯลฯ ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการแบบเดิมๆ ตลอดจนการขยายพื้นที่ตลาดหรือรับสร้างบ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพและผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยง ลดการแข่งขันในพื้นที่ตลาดที่มีการแข่งขันสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ