ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 31.60 ตลาดจับตา GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯ สัปดาห์หน้ามองกรอบ 31.50-31.70

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 27, 2018 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.60 บาท/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่ เปิดตลาดที่ระดับ 31.63 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.59-31.64 บาท/ดอลลาร์

"มีแรงซื้อดอลลาร์ในช่วงเช้าแต่พอกลางวันก็เริ่มแผ่วลง ไปทำ Low ที่ 31.59 บาท/ดอลลาร์..ขณะที่ข่าวผลประชุม ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีผลค่อนข้างจำกัด"นักบริหารเงิน กล่าว

สัปดาห์หน้า นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะอยู่ระหว่าง 31.50-31.70 บาท/ดอลลาร์

"ตลาดยังรอตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ ที่จะออกมาช่วงค่ำของวันนี้ตามเวลาประเทศไทย คิดว่าจะทำให้ ตลาดมี Movement พอสมควร"

THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 31.6117 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ 109.36 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 109.15 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.2077 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.2105 ดอลลาร์/ยูโร
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/61 เห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นทั้งการ
ส่งออกและการท่องเที่ยว กระจายตัวหลายอุตสาหกรรม ทั้งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งได้ประโยชน์จากการ
ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และยังต้องติดตามตัวเลขการนำเข้า ซึ่งขณะนี้ขยายตัวดีขึ้น มีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตขั้นกลางมากขึ้น
รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักร ซึ่งสะท้อนว่าการส่งออกและการผลิตขยายตัวดี
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คงเป้าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.2% จากช่วงคาดการณ์
3.9-4.5% ซึ่งเร่งตัวขึ้นจากปี 60 ที่ขยายตัว 3.9% เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

สศค.ได้ปรับประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้เป็นเติบโต 8% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตราว 6.6% แต่ไม่ได้ปรับเพิ่ม ประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคภาครัฐในไตรมาส 1/61 ยังคงชะลอตัว เนื่องจาก การเบิกจ่ายไม่เป็นตามเป้า รวมทั้งรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ปรับลดงบลงทุน

  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มี.ค.61 และไตรมาสที่
1/2561 ขยายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของ
การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาค
ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมวันนี้ พร้อมกับตัดสินใจยกเลิกการกำหนดช่วงเวลา
การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ให้ได้ภายในปีงบประมาณ
2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการผลักดันให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินของ BOJ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และเดินหน้า โครงการซื้อพันธบัตร โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระยะยาวให้เคลื่อนไหว ที่ระดับ 0% นอกจากนี้ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2561 ลงสู่ระดับ 1.3% จากระดับ 1.4%

ส่วนในปีงบประมาณ 2562 นั้น BOJ ได้คงคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อไว้เท่าเดิมที่ระดับ 1.8% โดยไม่ได้พิจารณาถึง ผลกระทบของการปรับขึ้นภาษีอุปโภคบริโภคซึ่งมีกำหนดประกาศใช้ในปีดังกล่าว พร้อมกับคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2563 จะอยู่ที่ระดับ 1.8% เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ