นายกฯเผยร่วมมือกับกลุ่มอาลีบาบาผลักดันให้เข้าถึง "ตลาดใหม่" ในเวทีโลก-ผ่านนวัตกรรมดิจิทัลหนุนยุทธศาสตร์ 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 28, 2018 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า กลุ่มอาลีบาบาได้ทำความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการสนับสนุนธุรกิจ e-Commerce และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพ โดยบริษัทอาลีบาบามีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของไทย และยืนยันในการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในระยะยาว โดยอาลีบาบาและรัฐบาลไทยมีเป้าหมายร่วมกันในอันที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และผลักดันให้สามารถเข้าถึง "ตลาดใหม่" ในเวทีโลกได้ ผ่านนวัตกรรมด้านดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ "ประเทศไทย 4.0"ไปพร้อม ๆ กับนโยบายด้านอื่น ๆ ของประเทศด้วย

สำหรับความร่วมมือในโครงการหลักครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. โครงการจัดตั้งศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC เพื่อจะส่งเสริมการค้ากับกลุ่ม CLMV และจีน โดยจะอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ ที่ครบวงจร ตั้งแต่ "ต้นทาง" แหล่งผลิตทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของไทย ไปยัง "ปลายทาง" ผู้บริโภค – ผู้สั่งสินค้า ณ ประเทศปลายทางทั่วทุกมุมโลก ผ่านเครือข่าย "ไช่เหนี่ยว" (Cainiao Network) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของอาลีบาบา เพื่อให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และไปยังที่อื่น ๆ ทั่วโลก ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะมีการยกระดับพิธีการทางศุลกากรในพื้นที่ ให้เป็นระบบดิจิทัลไปพร้อมกันด้วย ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยง SMEs ไทย ในทุกระดับ ทุกท้องถิ่น รวมถึงกลุ่ม OTOP และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนและตลาดโลกได้ง่ายขึ้น อีกทั้งจะขยายไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ ศูนย์ Smart Digital Hub จะเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัล ที่จะเชื่อมโยงกับเขตนวัตกรรมดิจิทัล หรือดิจิทัลพาร์ค EECd และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าดำเนินการอยู่

2. โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยจะมีการจัดตั้งวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา (Alibaba Business School : ABS) ซึ่งจะร่วมมือกับภาครัฐของไทย ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและ e-Commerce ของ SMEs ทุกกลุ่มทั่วประเทศ รวมถึง SMEs ในชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อย โดยเน้นให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ เท่าทัน และมีทักษะในการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ และเข้าถึงตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ มีผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 500 ล้านราย รวมถึงเข้าสู่ "ห่วงโซ่" ของภูมิภาคและตลาดโลกได้ตามลำดับ นอกจากนี้ วิทยาลัยธุรกิจดังกล่าวยังจะร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนากลุ่มคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) ในประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัย อาจารย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมพัฒนาด้านดิจิทัลและ e-Commerce เพื่อให้มีความเข้าใจลึกซึ้ง และเป็นการสร้างเครือข่ายกับดาวเด่นหรือ Talents ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศจีนด้วย

3. การเปิด "ร้านค้าข้าวไทย" (Thai Rice Flagship Store) บนเว็ปไซต์ซื้อขายออนไลน์ "ระดับโลก" เพื่อช่วยสนับสนุนการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรเริ่มจากข้าว และจะขยายผลไปถึงผลไม้ต่าง ๆ ของไทย ในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะเปิดเสรีการค้า โดยตลาดจีนยังเปิดกว้างสำหรับการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก อีกกว่า 240 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยเราก็มีศักยภาพ ที่จะได้รับส่วนแบ่งการตลาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีน ตามที่มีรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากการประเดิมด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนล่วงหน้า เพียง "1 นาที" ก็มียอดการสั่งซื้อถึง 80,000 ลูก ปัจจุบันปิดการขายงวดแรก "3 วัน" ไปแล้ว มียอดจองซื้อทุเรียนไทย 130,000 ลูก หรือ 350 ตัน คิดเป็นเงิน 70 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการส่งมอบ เราใช้บริการของเขา แต่ผู้ผลิต กับผู้บริโภค เขาก็สั่งจอง แล้วก็กำหนดราคาขายไป เข้าออนไลน์ไป เป็นการเชื่อมโยงการซื้อขายออนไลน์ระหว่าง thaitrade.com ของไทยด้วย แล้วก็ Tmall.com ของอาลีบาบา ของเราก็มี ของเขาก็มี เพื่อจะให้เข้ากับระบบการขนส่งสินค้าของอาลีบาบา ซึ่งวันนี้เขามีความพร้อมมากกว่าเรา มีประสิทธิภาพ ขั้นต้นเราก็ต้องพึ่งพาอาศัยเขาบ้าง วันหน้าเราก็สร้างแพลทฟอร์มของเราขึ้นมาให้ทัดเทียม ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้าเราสามารถดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ เราอาจจะสามารถส่งทุเรียนจากแหล่งผลิตในไทยไปยังจีนได้ภายใน 120 ชั่วโมง และส่งต่อจนถึงมือลูกค้าทั่วประเทศจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง วันหน้าเราไปถึงประเทศอื่นด้วย

ทั้งนี้ เกษตรกรของไทยก็สามารถเข้ามาอยู่ใน "ห่วงโซ่" ดังกล่าวได้ แต่ต้องจดทะเบียน เป็น "นิติบุคคล" ในรูปการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทก็ได้ ก็จะเป็นการยืนยันการมีตัวตน และต้องมีแบรนด์เป็นของตัวเอง สามารถตรวจสอบที่มาได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นให้สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ thaitrade.com ของกระทรวงพาณิชย์ แล้วกระทรวงฯ จะประสานงานกับอาลีบาบา เพื่อมาคัดเลือกสินค้าไปจำหน่ายต่อไป เขาไม่ได้มาซื้อเรา เขาจะคัดเลือกว่าอันไหนจะขายเขาได้บ้าง ปัจจุบันมีเกษตรกรทุเรียน สามารถผ่านการคัดเลือกแล้วกว่า 100 ราย ในอนาคตรัฐบาลมีแนวคิดในการผลักดันการส่งออกข้าวไทยและผลิตผลทางการเกษตรของไทย เข้าสู่วงจรดังกล่าว เรามีอีกหลายอย่าง ลำไย ลิ้นจี่ ส้ม มะม่วง อะไรทำนองนี้ โดยจะต้องอาศัยข้อมูลเชิงลึกในเรื่องตลาดผู้บริโภคที่อาลีบาบามีความเชี่ยวชาญอีกด้วย

4. โครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัลและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวรายย่อยในไทย โดยบริษัทลูกของอาลีบาบาจะร่วมมือกับภาครัฐ ในการใช้ประสบการณ์และเทคโนโลยีจัดทำแพลตฟอร์มหรือ "เครื่องมือ" เพื่อประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกให้กับสถานที่และกิจกรรมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั่วไทย (Thailand Tourism Platform) เช่น คู่มือไกด์ออนไลน์ ระบบจำหน่ายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งจะช่วยผลักดันการยกระดับการท่องเที่ยว ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เริ่มตั้งแต่กระบวนการทางวีซ่า บริการหลังเดินทางแบบดิจิทัล ด้วยการคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Alipay ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพจากจีน และช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยได้มากขึ้นนะครับ ไม่ต้องไปกลัว หลายคนไปกลัวว่าจะเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ คนละเรื่องกันทั้งหมด อย่าบิดเบือนกัน

ความร่วมมือเหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในแนวทางหลากหลาย เพื่อการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของประเทศ ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาคแถบนี้ ให้สะดวก มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มการเข้าถึงตลาดให้กับเกษตรกรและธุรกิจของประเทศ ในปีที่ผ่านมานั้น อาลีบาบาได้เข้าร่วมกับประเทศมาเลเซีย ขออนุญาตเอ่ยนาม ก็เป็นหนึ่งในเพื่อนบ้านของเราไปแล้ว ในการสร้างศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในภูมิภาค ต่อไปก็จะสามารถเชื่อมต่อกับไทยได้ และรองรับการค้าและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกด้วย สำหรับครั้งนี้ อาลีบาบามีแผนการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า มูลค่า 11,000 ล้านบาท เพื่อจะเป็นเป็นศูนย์กระจายสินค้า ไปยังผู้สั่งสินค้าในภูมิภาคนี้อย่างประเทศ CLMV โดยสินค้าจะถูกส่งมารวบรวมที่ศูนย์นะครับ แล้วกระจายที่นี่ โดยจะดำเนินการภายใต้เขตปลอดอากรของกรมศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับปัจจุบัน ที่มีการกำหนดเรื่องเขตการค้าเสรี (free trade zone) ชัดเจนอยู่แล้ว ไว้ก่อนหน้านี้แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

(1) หากผู้ประกอบการนำสินค้าที่เป็นวัตถุดิบเข้ามาในพื้นที่เขตปลอดอากร เพื่อการผลิต ผสม ประกอบ หรือนำสินค้ามาพักไว้เพื่อ "ส่งออก" ก็ไม่ต้องเสียภาษี และไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันนี้เป็นเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้ว

(2) หากเป็นการนำเข้ามาเพื่อ "ขายในประเทศ" ก็ต้องมีการเสียภาษีตามพิกัดที่กำหนดไว้ตามปกติ ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ศักยภาพของตลาดผู้บริโภคของจีนในอนาคตอันใกล้ ประเทศจีนจะเปิดเสรีในเรื่องการค้าขายกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ตามที่ผมได้กล่าวมาแล้ว อีกทั้ง เศรษฐกิจจีน และรายได้ของผู้บริโภคเหล่านั้น คาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการของจีน "เพิ่มขึ้น" ตามไปด้วย การที่เรามีช่องทางแบบนี้ ในการเข้าสู่ตลาด มีสินค้าและบริการมากขึ้น หรือเป็นศูนย์กลางให้กับการค้าขายในภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับรองรับผลประโยชน์และการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและ SMEs ของไทย ในระยะต่อไปอีกด้วย พี่น้องในภาคเกษตร ก็มีโอกาสที่จะได้รับรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเราเป็นผู้กำหนดราคาเอง อาจจะต้องผ่านการตรวจสอบ ว่ามีคุณภาพหรือไม่ ทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนไม่มีคุณภาพหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้น เขาก็ไม่เอาไปขาย คนซื้อเขาเห็นแล้วเขาก็ไม่ซื้อ ไม่ได้ไปบังคับใคร จะต้องเข้าไป ALIPAY หรือเข้าไปใช้ อาลีบาบา ทั้งหมด ตัวเองต้องพร้อมด้วย ถ้ายังไม่พร้อมก็เข้าตลาดของเราไปก่อน เมื่อสักครู่ก็บอกไปแล้ว ของไทยก็มีอยู่ 2-3 อัน ทั้งนี้ เพื่อจะเกิดความเชื่อมโยงระหว่างตลาด ไปด้วยกันทั้งหมด

ทั้งนี้ คาดหวังว่าผู้ประกอบการ รวมไปถึงเกษตรกร จะสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือนี้ ในการพัฒนาศักยภาพการผลิต หรือปรับตัว ปรับวิธีการทำธุรกิจและกระบวนการผลิต ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อย่างรู้เท่าทัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ก็ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าขายในภูมิภาคเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับสินค้าไทย หรือผู้ประกอบการไทย ในเวทีการค้าโลกไปพร้อมกันด้วย ส่วนใหญ่เราจะรู้แต่การผลิต ไม่ค่อยรู้ในเรื่องของการค้า เพราะฉะนั้น เกษตรกร หรือ SMEs เราก็จะได้รู้ระบบการค้าที่เป็นสากลด้วย โดยการค้าออนไลน์ แล้วก็มีกฎหมายที่รองรับไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นภาครัฐก็จะเป็น "พี่เลี้ยง" โดยดึงกลไก "ประชารัฐ" ในกิจกรรมต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเหลือกัน ในลักษณะ "พี่ช่วยน้อง เพื่อนช่วยเพื่อน" เราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน อย่าเอาเปรียบกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่หลอกลวงกัน เอาเปรียบเพื่อน เอาเปรียบคนอื่น ไม่ดีทั้งสิ้น

สำหรับการปรับกระบวนการทำงานเหล่านั้น ถ้าลดคน ก็ต้องไปปรับเรื่องดิจิตอล เข้ามาเสริมตามนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ผมยกตัวอย่าง "อย. 4.0" วันนี้เรียก อย. 4.0 ขององค์การอาหารและยา ที่เราสามารถส่งเสริมการสร้าง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ด้วยนวัตกรรมของเราเอง เช่น ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย พี่น้องประชาชนอาจไม่เคยรู้ว่า ที่ผ่าน ๆ มา มีปริมาณคำขอขึ้นทะเบียน อย. ที่ค้างการพิจารณา ณ ธันวาคม 2559 เกือบ 10,000 คำขอ ก่อนหน้านั้นมากกว่านั้น 2557 ทั้งเรื่องยา เรื่องอาหาร วัตถุเสพติด วัตถุอันตราย เครื่องมือแพทย์ ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล และในทางสังคมที่พี่น้องประชาชน เสียโอกาสในการเข้าถึงยา อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีคุณภาพ ที่มีราคาถูกกว่าการนำเข้า ติดขัดด้วยข้อกฎหมายทั้งหมด ที่ล้าสมัย ไม่ทันสมัย เราเกิดความเสียหายอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่เราพยายามปรับตัวมาตลอด ก็ทยอยดำเนินการไปอย่างเร่งด่วน

อย.ในยุค "ไทยแลนด์ 4.0" นั้น สามารถแก้ไขข้อขัดข้องในการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาคำขอให้รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาดำเนินการสั้นลงและมีความรวดเร็วมากขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 ทำมาหลายปี ยังลดได้แค่ร้อยละ 20 ต้องพัฒนาต่อไปจากนี้อีก เพื่อจะเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจาก 35 วันทำการ ให้เหลือ 28 วันทำการ การขึ้นทะเบียนตำรับยาใหม่จาก 280 วันทำการ เหลือ 220 วันทำการ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาในด้านอื่นอีก อาทิ ขยายศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เบ็ดเสร็จ พร้อมจัดทำระบบชำระค่าใช้จ่ายผ่านธนาคาร ที่เรียกว่า (e-Payment) และจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นต้น ทำให้สามารถ "เคลียร์" คำขอคงค้างทั้งหมดได้แล้วเสร็จ เมื่อมีนาคม 2561 ที่ผ่านมาและสามารถดำเนินการอนุมัติคำขอที่มาใหม่ให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดไว้ในคู่มือประชาชนอีกด้วย ซึ่งเราจะพยายามทำให้ไม่มีการตกค้างอีกต่อไป ที่กล่าวมานี้นั้น เป็นอีก "หนึ่งตัวอย่าง" ของการปฏิรูปที่เกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลนี้ ทั้งนี้การปฏิรูปได้ "ทำได้ ก็ทำทันที" ส่วนอะไรที่ต้องใช้เวลา ต้องมีการบูรณาการกันหลายหน่วยงาน ก็ขอให้พี่น้องประชาชนได้ติดตาม และอดใจรอด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ