สรรพากร แจงมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาให้จดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2018 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดการสัมมนา "มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล และสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร" เพื่อชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการ บุคคลธรรมดาประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคล และแนวทางในการบริหารจัดเก็บภาษีอากร รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างถูกต้องและภายในกำหนดเวลา

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป สถาบันการเงินจะใช้ข้อมูลงบการเงินที่นำส่งกรมสรรพากรเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการขออนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องจัดทำงบการเงินของรอบระยะเวลาบัญชี 2560 ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง เพื่อรองรับการดำเนินการของสถาบันการเงิน

สำหรับผู้ประกอบการที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในปีนี้วันสุดท้ายของการยื่นแบบฯ ตรงกับวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ยื่นแบบฯ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต จะได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบฯ และชำระภาษีออกไปถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561 โดยผู้ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร และได้ยื่นงบการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ที่ Web Site ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th ภายในกำหนดเวลาและมีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองงบการเงินดังกล่าว ถือว่าได้ยื่นงบการเงินต่อกรมสรรพากรแล้ว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้มีการบูรณาการข้อมูล 3 กรมภาษี และหน่วยงานอื่น เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ต่อการบริหารจัดเก็บภาษี นอกจากนี้ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการประกอบธุรกิจ กรมสรรพากรได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ศึกษารูปแบบนวัตกรรมทางการเงินเพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียภาษีและประเทศไทยมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ