พาณิชย์ เปิดผลศึกษาชี้ไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เหตุสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯมากกว่าส่งไปจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2018 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อการค้าไทยจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ-จีนในกรณีต่างๆ โดยพบว่าการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรา 301 กับสินค้าจากจีนจำนวน 1,333 รายการ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไทยกลับจะได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 120-1,195 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย เครื่องจักร/เครื่องใช้กล, เครื่องจักรไฟฟ้า/อุปกรณ์ประกอบ ขณะที่สินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และเหล็กและเหล็กกล้า โดยผลการศึกษาได้พิจารณาทั้งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ 2 กรณีเข้าด้วยกัน คือ 1.ผลทางลบจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ และ 2.ผลทางบวกจากการที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยทดแทนจีน

"การศึกษาของ สนค.ชี้ให้เห็นว่าไทยได้ประโยชน์จากสงครามการค้า เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มากกว่าที่ส่งไปจีน ส่งผลทางบวกจากการที่สหรัฐฯ อาจนำเข้าจากไทยทดแทนจีนมีมากกว่าผลทางลบจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ทั้งนี้ สนค.ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรณีที่จีนมีการระบายสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของสหรัฐฯ ไปยังตลาดอื่นถือเป็นความเสี่ยงต่อไทยใน 2 ด้าน คือ 1.สินค้าของจีนบางส่วนจะไหลเข้าสู่ไทยมากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่ารวม 1,176 ล้านเหรียญฯ และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศได้ และ 2.สินค้าบางส่วนของจีนจะกระจายไปยังคู่ค้าที่สำคัญของไทย และจะทำให้การแข่งขันในตลาดคู่ค้าของไทยมีสูงขึ้น โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ 1,984 ล้านเหรียญฯ ซึ่งรวม 2 ส่วนมีมูลค่าประมาณ 3,160 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในส่วนนี้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศได้ติดตามและพูดคุยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นภาคเอกชนยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯและจีน

"การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าว รวมถึงพิจารณาแนวทางการรับมือที่เป็นไปได้จากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะว่าไทยสามารถแสวงหาโอกาสทางการค้าโดยการเพิ่มช่องทาง การเจรจาการค้าในระดับทวิภาคีกับทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศในการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถประชากรในประเทศ ...ที่ประชุมเชื่อว่าสงครามการค้าครั้งนี้มีแนวโน้มคลี่คลาย และคาดว่าทั้งสองประเทศจะเจรจาตกลงกันได้ โดยหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีมาตรการอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อไทยเพิ่มเติมอีกหรือไม่" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ