ครม.ยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี IBF หลังใช้กว่า 11 ปี ป้องกันข้อครหาแนวปฏิบัติทางภาษีไทยเป็นภัยต่อประเทศอื่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2018 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ... ในการยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 454 พ.ศ.2549

ทั้งนี้ เมื่อปี 2549 กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีเกี่ยวกับกิจการวิเทศธนกิจ (IBF) โดยให้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎรกร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549 แก่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศไปให้กู้ยืมในต่างประเทศ (Out-Out) ที่ทดแทนสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบธุรกิจวิเทศธนกิจเดิมซึ่งเริ่มในปี 2535 และยกเลิกไปในปี 2549

นายณัฐพร กล่าวว่า การยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของ Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งจะต้องนำปฏิบัติการต่างๆ ของโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (BEPS) ของ OECD มาใช้

ทั้งนี้ Forum on Harmful Tax Practices (FHTP) ของ Inclusive Framework on BEPS ได้พิจารณามาตรการภาษีบางมาตรการของประเทศไทย รวมถึงมาตรการภาษีเกี่ยวกับ IBF ว่ามีลักษณะเป็น Ring-fencing กล่าวคือ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่รายได้ที่ได้รับจากต่างประเทศกับรายได้ที่ได้รับจากในประเทศไม่เท่าเทียม อันอาจทำให้เป็นแนวปฏิบัติทางภาษีที่เป็นภัยแก่ประเทศอื่น ดังนั้นกระทรวงการคลังเห็นว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี IBF ที่มีระยะเวลา 11 ปี 6 เดือนซึ่งนานพอสมควรแล้ว และได้ทำให้สินเชื่อ Out-Out เกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์แล้ว และยอดค้างสินเชื่อ Out-Out ในช่วงระยะที่ผ่านมาก็ไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

นอกจากนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ FHTP ประกาศว่ามาตรการภาษีของประเทศไทย เป็นแนวปฏิบัติทางภาษีที่เป็นภัยแก่ประเทศอื่น ซึ่งอาจถูกมาตรการตอบโต้จากประเทศสมาชิกของ Inclusive Framework on BEPS, OECD และสหภาพยุโรป (EU) ตลอดจนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในการร่วมมือแก่นานาประเทศเกี่ยวกับความโปร่งใสด้านภาษี การจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม และการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร

"การยกเลิกมาตรการภาษีดังกล่าวนี้ คาดว่ารัฐจะมีรายได้จากภาษีนิติบุคคลเพิ่มอีกปีละ 30-60 ล้านบาท" นายณัฐพร ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ