(เพิ่มเติม) สถาบันอาหาร คาดส่งออกทั้งปียังขยายตัวได้ 10.0% แม้ H1/61 ได้รับแรงกดดันจากบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 7, 2018 12:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 61 อุตสาหกรรมอาหารไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและตลาดโลก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 10% คิดเป็นมูลค่า 33,000 ล้านดอลลาร์ หรือหากคิดในรูปของเงินบาทจะขยายตัวได้ 5.3% ที่มูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท

พร้อมมองแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 9.8% คิดเป็นมูลค่า 17,150 ล้านดอลลาร์ หรือในรูปของเงินบาทจะเพิ่มขึ้น 8.6% คิดเป็นมูลค่า 562,156 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกอาหารในรูปเงินบาทมีการขยายตัวสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกจากผลของเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจรวมทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้เป็น 3.9% จากเดิม 3.5% 2.ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรที่มีเพียงพอต่อความต้องการแปรรูป 3.นโยบายสนับสนุนการส่งออกเชิงรุกของรัฐบาล และมีมาตรการเพิ่มช่องทางการค้าต่างๆ

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง, ความผันผวนของเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นมา เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมส่งออกอาหารไทยสูญเสียรายได้สูงถึง 8 หมื่นล้านบาท, ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และภาวะการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

สถาบันอาหาร ระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไทยทั้งปี 61 การส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่า 1,070,000 ล้านบาท หรือ 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.3% และ 10.0% ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์ ตามลำดับ คาดว่าสินค้าที่จะขยายตัวดีในรูปดอลลาร์ ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป แป้งมันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว ส่วนสินค้ากุ้ง น้ำตาลทราย และสับปะรด มีแนวโน้มส่งออกลดลง

โดยในครึ่งปีแรกภาคธุรกิจมีแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนในครึ่งปีหลังการผลิตและการบริโภคจะถูกแรงกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกในครึ่งปีหลังจะคลายตัวจากการแข็งค่าของเงินบาท" ผอ.สถาบันอาหารกล่าว

สินค้ากลุ่มที่การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออก 7,500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 ปีล่าสุด(+10%ต่อปี) บิสกิตหวาน 4,400 ล้านบาท(+15%ต่อปี) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน 4,000 ล้านบาท(+10%ต่อปี) ไอศกรีม 2,500 ล้านบาท(15%ต่อปี) สารสกัดสมุนไพร 1,200 ล้านบาท (+40%ต่อปี) ซึ่งส่วนใหญ่มีตลาดหลักอยู่ในอาเซียน CLMV ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ไต้หวัน อินเดีย และอียู เป็นต้น

ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กร จะร่วมกันผลักดันสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพกลุ่มสินค้าอาหารพร้อมทาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้ยกระดับมาตรฐานสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เร่งรัดให้เกิดการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบออฟไลน์โดยการจับคู่ธุรกิจ(Business Matching) และออนไลน์โดยการขายผ่านช่องทาง E-Commerce เป็นต้น

นายยงวุฒิ ยังกล่าวถึงการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 61 ว่า ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในรูปเงินบาทขยายตัวต่ำ โดยมีปริมาณ 10.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.9% ที่มูลค่า 318,577 ล้านบาท หรือ 10,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.5% และ 13.2% ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

สินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ไก่ มันสำปะหลัง เครื่องปรุงรส และผลิตภัณฑ์มะพร้าว สินค้าที่มีการส่งออกหดตัวลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ กุ้งและผลิตภัณฑ์สับปะรด เนื่องจากตลาดเกิดการแข่งขันที่รุนแรง สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์มากขึ้น ส่วนสับปะรดไทยต้องเผชิญคู่แข่งอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

โดยกลุ่มประเทศ CLMV ยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 15.4% รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น (12.9%) อาเซียนเดิม (12.5%) สหรัฐอเมริกา (9.8%) แอฟริกา (9.7%) จีน (9.7%), สหภาพยุโรป (6.0%) ตะวันออกกลาง (3.7%) โอเชียเนีย (3.2%), สหราชอาณาจักร (3.0%) และเอเชียใต้ (2.8%) โดยตลาดที่มีการขยายตัวโดดเด่น คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 110.8% จากการส่งออกน้ำมันพืชไปยังประเทศอินเดียเป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ จีน เพิ่มขึ้น 27.2% จากการกลับมานำเข้ามันสำปะหลังจากไทย แอฟริกาเพิ่มขึ้น 19.7% จากการส่งออกข้าวเป็นหลัก และตลาดอาเซียนเดิมเพิ่มขึ้น 12.3% จากการส่งออกข้าว น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกอาหารไทย 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 61 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นมากในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในรูปเงินบาทขยายตัวต่ำ เพราะการแข็งค่าของเงินบาทยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าในช่วงดังกล่าว ประเมินว่าการส่งออกจะมีมูลค่า 507,844 ล้านบาท หรือ 15,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.9% และ 10.3% ในรูปเงินบาทและในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ