ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนพ.ค.ปรับลดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาพลังงาน แต่เห็นสัญญาณบวกรายได้และการจ้างงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2018 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเดือน พ.ค.61 พบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน (KR-ECI) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.9 จากปัจจัยทางด้านสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาพลังงาน แต่รายได้และการมีงานทำของครัวเรือนค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งช่วยชดเชยผลทางด้านราคาที่ลดลง และหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตร

ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.61 ที่ผ่านมา ระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่เร่งตัวสูงขึ้น 1.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาพลังงานภายในประเทศ เช่น น้ำมันขายปลีก ก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของครัวเรือนไทย ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนพ.ค.61 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 44.9 จากเดิมที่ระดับ 45.3 ในเดือนเม.ย.61 ซึ่งนอกจากแรงกดดันทางด้านสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศแล้ว ครัวเรือนไทยที่สำรวจยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องภาระในการชำระหนี้ จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่ทำให้ต้องกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ครัวเรือนไทยมีมุมมองที่ดีและเป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ สะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.4 ในเดือนพ.ค. 2561 และประคองตัวอยู่เหนือระดับ 50.0 ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ในเดือนพ.ค. 2561 เกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยางพารา ทำให้ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น แม้ว่าราคายางพาราแผ่นดิบจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็หนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรบางส่วนมีรายได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งผ่านผลดีไปยังภาวะการมีงานทำของครัวเรือน สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนผู้ที่มีงานทำในเดือนพ.ค.61 ที่อยู่ที่ 37.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 6.9 แสนคน และเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 8.7 แสนคน โดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรที่ในเดือนพ.ค.61 มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 4.79 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 46.9 ในเดือนเม.ย. มาอยู่ที่ระดับ 46.2 ในเดือนพ.ค.61 โดยส่วนหนึ่งมาจากความกังวลและการคาดการณ์ของครัวเรือนในเรื่องระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่มองว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนยังคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.61 เนื่องจากมีหลายช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่น กลับภูมิลำเนา ทำบุญ ท่องเที่ยว ฯลฯ

อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดตลอดทั้งปี 2561 ก็น่าจะช่วยดึงดูดความสนใจของครัวเรือน รวมถึงเพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเลือกจังหวัดเมืองรองที่จะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองที่เพิ่มขึ้นจะเป็นการช่วยกระจายรายได้ลงสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น

"ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง จากแรงกดดันทางด้านระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาระค่าครองชีพของครัวเรือนสูงขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้และภาวะการมีงานทำของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเริ่มได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับครัวเรือนเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มุมมองของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากราคาพลังงานในประเทศทยอยปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค.61 ที่ผ่านมา ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัว อีกทั้งรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือดูแลภาระค่าครองชีพของครัวเรือนอย่างทันท่วงที ประกอบกับตลาดแรงงานมีสัญญาณที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าจะช่วยหนุนมุมมองของครัวเรือนไปในทิศทางที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ