พาณิชย์ เผยพ.ค.61 ยอดธุรกิจตั้งใหม่ 5,865 ราย เพิ่มขึ้น 1% ธุรกิจก่อสร้างยังครองแชมป์ต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 15, 2018 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในเดือนพฤษภาคม 2561 จำนวน 5,865 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 5,120 ราย เพิ่มขึ้น 745 ราย คิดเป็น 15% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 5,832 ราย เพิ่มขึ้น 33 ราย คิดเป็น 1%

โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 538 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 345 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร 163 ราย คิดเป็น 3% มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,090 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 36,362 ล้านบาท ลดลง 15,272 ล้านบาท คิดเป็น 42% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 31,411 ล้านบาท ลดลง 10,321 ล้านบาท คิดเป็น 33%

สำหรับธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้นทั่วประเทศ (ณ วันที่ 31 พ.ค.61) มีจำนวน 703,770 ราย มูลค่าทุน 17.66 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 185,492 ราย คิดเป็น 26.36% บริษัทจำกัด 517,083 ราย คิดเป็น 73.47% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,195 ราย คิดเป็น 0.17%

ขณะที่ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวน 1,014 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2561 จำนวน 795 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 219 ราย คิดเป็น 28% และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 1,074 ราย ลดลง 60 ราย คิดเป็น 6% โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 101 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 62 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร 41 ราย คิดเป็น 4%

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- พ.ค.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวน 31,034 ราย เพิ่มขึ้น 1,617 ราย คิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.60) ซึ่งมีจำนวน 29,417 ราย ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวอย่างชัดเจนจากภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสเติบโตจากผลของมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืน รวมทั้งการเร่งกระบวนการก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริม SMEs ไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ผ่านมาตรการด้านการเงิน เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น กระทรวงพาณิชย์มีส่วนร่วมในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ช (e-Commerce) และขยายการค้าอีคอมเมิร์ซให้เติบโตเพิ่มขึ้น ตลอดจนถึงการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ

สำหรับมาตรการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้เปิดโอกาสพิเศษให้ SMEs ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจสามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น กรมฯ จึงคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ