(เพิ่มเติม2) กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% พร้อมปรับเพิ่มประมาณการ GDP ปี 61-62 ตามส่งออก-ท่องเที่ยวดีกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 20, 2018 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยมีกรรมการ 1 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่มีกรรมการ 1 รายลาประชุม

พร้อมกันนั้น กนง.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 61 เป็น 4.4% จากเดิม 4.1% และในปี 62 ปรับเพิ่มเป็นเติบโต 4.2% จากเดิม 4.1% เนื่องจากมองว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตถึง 9% ดีกว่าที่เดิมที่เคยคาดไว้ที่ 7.0% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนปีหน้าคาดว่าการส่งออกจะเติบโตชะลอลงมาที่ 5% แต่สูงกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 3.6%

รวมทั้งการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยได้ปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 61 เพิ่มเป็น 38.3 ล้านคน จากเดิมคาดไว้ที่ 37.6 ล้านคน และในปี 62 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 40 ล้านคน จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 39 ล้านคน

"เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวและอุปกรณ์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น"กนง.ระบุในประมาณการเศรษฐกิจในรายงานนโยบายการเงินเดือน มิ.ย.61

ขณะที่ กนง.ได้ปรับคาดการณ์การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้นจากเดิมทั้งในปี 61 และปี 62 แต่การอุปโภคและการลงทุนภาครัฐในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

"การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แต่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะข้างหน้า ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้"กนง.ระบุ

ทั้งนี้ นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง.เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ส่วนกรรมการ 1 ท่านเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ากว่าที่ควร จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว และอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และการขยายตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง จึงทำให้กำลังซื้อยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ในระยะข้างหน้าด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยและเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยหลักเป็นผลของราคาน้ำมันที่เร่งขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต อาทิ การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce และการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมทรงตัว

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนต่อเนื่อง กนง.จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่าเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ากว่าที่ควร (underpricing of risks)

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการช่าระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ต้องติดตามความเข้มแข็งของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการของเงินเฟ้อในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีความไม่แน่นอนอยู่มาก กนง.จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า การไหลออกของเงินทุนต่างประเทศในขณะนี้ยังไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงิน เพราะถือว่ามีกันชนในการจัดทำนโยบายอยู่พอสมควร แม้ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าจะส่งผลให้มีการไหลออกของเงินทุนพอสมควร แต่จกกกการประเมินเศรษฐกิจในประเทศยังมีความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพการต่างประเทศ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ การถือครองพันธบัตรนักลงทุนต่างชาติไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ กนง.จะต้องติดตามต่อไป

"ปัญหาเงินทุนไหลออกของไทยใกล้เคียงกับทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เมื่อพิจารณาผลกระทบค่าเงินก็อยู่ในทิศทางใกล้เคียงกัน ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเมื่อช่วงต้นปี ขณะนี้ก็มีทิศทางอ่อนค่าลงมาใกล้เคียงกับช่วงสิ้นปี 2560 แล้ว การอ่อนค่าของเงินบาทก็มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ได้มีความกังวลแต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด"

ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น กนง.ยังคงให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าตลาดเงินในหลายประเทศจะเริ่มมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันไปบ้างแล้ว แต่ กนง.ก็ยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทย รวมทั้งต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนจึงยังมีความจำเป็นอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากภายนอกที่ต้องติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหากไม่รุนแรงก็จะส่งผลให้การส่งออกไทยในปี 62 ปรับตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ