สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนจัดงานเสวนาแนะแนวทางธุรกิจไทยปรับตัวสู่สังคมดิจิทัล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 25, 2018 18:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆมากมายทั้งในภาคเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศจีน ซึ่งทุกวันนี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นคู่ค้าและพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีนจึงไม่อาจนิ่งนอนใจในการพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ดังที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยระหว่างกล่าวปาฐกถาเปิดงานสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ในหัวข้อ "สังคมดิจิทัล อนาคตที่หลีกไม่พ้น ก้าวเดินของจีน พัฒนาการของไทย" ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ วันนี้ว่า รัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาทางดิจิทัลที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกและได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างผลักดันการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลภายใต้เป้าหมายในหลายมิติ ตั้งแต่การนำเอาดิจิทัลมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจนนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป โดยแผนการในขั้นแรกคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางดิจิทัล ด้วยการกระจายความเจริญทางดิจิทัลออกไปทั่วประเทศ ให้ทุกๆหมู่บ้านสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ พร้อมมอบความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงการสื่อสารทั้งทางอากาศ, พื้นดิน และใต้น้ำ ภายใต้การกำกับดูแลของตัวบทกฎหมายที่สอดคล้องกับนานาประเทศ

นอกจากในภาคส่วนของรัฐบาลแล้ว ในช่วงการเสวนาหัวข้อ "จีนต้นแบบสังคมดิจิทัล พัฒนาการที่หนีไม่พ้นของเศรษฐกิจไทย" นั้น ทางสมาคมฯได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมแบ่งปันความรู้ความเข้าใจต่อทิศทางและแนวโน้ม ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีคุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), คุณบัณทิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (BCPG), คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Innovation eSolution Business Director SCG Cement-Building Materials Co.,Ltd. คุณเจมส์ สู รองประธานคณะผู้แทนประจำประเทศไทยของอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba) มาร่วมเป็นวิทยากร

*สังคมดิจิทัลของไทยเมื่อเทียบกับจีน

คุณสุรางคณา วายุภาพ จาก สพธอ. กล่าวว่า จากสถิติจะเห็นได้ว่ามีชาวจีนอีกหลายส่วนที่ยังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย เพียงแต่หลายกลุ่มยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ใช้อยู่คืออินเทอร์เน็ต ซึ่งจุดนี้จะเป็นหน้าที่ของสพธอ. ที่จะต้องทำให้ประชาชนรับรู้และใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ไม่อยากให้มองว่าการทำธุรกิจกับจีนเป็นการเสียโอกาสเพียงฝ่ายเดียวเพราะว่าสินค้าไทยหลายอย่างเป็นที่นิยมในจีนซึ่งในส่วนนี้จะเป็นโอกาสของคนไทย แต่การที่จีนในขณะนี้เป็นสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ ดังนั้นไทยจะต้องปรับตัวอีกหลายอย่าง ทั้งการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจมีการคาบเกี่ยวกันได้ในหลายส่วน รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อาจต้องดูตัวอย่างจากจีนที่มีมาตรการป้องกันตรงจุดนี้ได้ดีมาก ตั้งแต่การเปิดบัญชีออนไลน์ตั้งแต่แรก ซึ่งจะต้องศึกษาต่อไป

*ธุรกิจพลังงานก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลได้อย่างไร

คุณบัณฑิต สะเพียรชัย มองว่า ต่อไปการใช้พลังงานจะเปลี่ยนไป โดยจะใช้น้ำมันน้อยลง และใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าจากการเป็นผู้บริโภค (consumer) ที่ต้องซื้อพลังงานจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวจะกลายเป็นผู้ผลิต (prosumer) ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันมีโครงการนำร่องร่วมกันแสนสิริ ซึ่งจะมีการทดลองใช้ในอีกสองเดือนข้างหน้า เป็นการติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งรับประกันว่าค่าไฟฟ้าจะลดลงและส่วนที่เหลือใช้สามารถนำไปขายต่อให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนเดียวกันหรือให้กับรัฐบาลผ่านทางแพลตฟอร์มของ BCPG ซึ่งได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งาน โดยหน่วยกลางในการแลกเปลี่ยนจะใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ซึ่งทาง BCPG จะเป็นผู้รับความเสี่ยงของการที่ค่าเงินจะผันผวนอย่างรุนแรงเอง

*Digital Distrubtion ความท้าทายที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาคพลังงานแล้ว คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ฝ่าย Innovative Solution Business จาก SCG ยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยระบุว่า ในส่วนของ SCG เอง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่าซัพพลายเชนของเราได้รับผลกระทบไปหมดแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจก็คือจะปรับตัวกันอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้

คุณวชิระชัยแนะนำว่า เศรษฐกิจในยุคนี้ไม่ใช่การแข่งขันอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นความร่วมมือกันเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำความเชี่ยวชาญที่แต่ละคนมีอยู่มาใช้แล้วสร้างระบบนิเวศขึ้นมา เพื่อเติบโตไปพร้อมๆกัน

*อาลีบาบามองไทยยังมีโอกาสอีกมาก

ขณะที่คุณเจมส์ สู รองประธานคณะผู้แทนประจำประเทศไทยของอาลีบาบา ได้กล่าวถึงโอกาสและความร่วมมือระหว่างไทยและจีนว่า เมื่อมองจากนโยบายของรัฐบาลจีนกับไทยแล้ว นับว่ามีนโยบายที่ใกล้เคียงกันอยู่มาก อย่างจีนก็มียุทธศาสตร์ Made in China 2025 ในขณะที่รัฐบาลไทยก็มียุทธศาสตร์ Thailand 4.0 หรือโครงการ One Belt One Road ของจีนก็มีความสอดคล้องกับ นโยบาย AEC ของภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งจีนและไทยยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างกัน นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า อาลีบาบาได้เข้ามาร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนของไทยในการให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่รัฐ, นักธุรกิจ, นักเรียน, นักศึกษา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทย เพื่อมอบความช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันและสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ