สทท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจท่องเที่ยว Q2/61 อยู่ที่ 94 ลดลงจาก 101 ใน Q1/61 จากการแข่งขัน-ต้นทุนสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 26, 2018 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ระดับ 94 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเล็กน้อย โดยลดลงจากระดับ 101 ในช่วงไตรมาส 1/2561 โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในไตรมาสนี้เนื่องจากการแข่งขันและต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับในช่วงไตรมาส 2/2561 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.09% จากไตรมาส 2/2560 ส่วนช่วงไตรมาส 3/2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.64 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.79% จากไตรมาส 3/2560 แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 2.47% เพิ่มขึ้น 8.54%, นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก (รวมจีน) 4.35 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.28%, นักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.28 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.67% ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศช่วงไตรมาส 2/2561 จะมีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 35% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วงไตรมาส 3/2561 จะมีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ 25% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในช่วงไตรมาส 3/2561 คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 100 โดยมีปัจจัยหนุนจากการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้น การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับการประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทำให้คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 39.47 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.53% จากปี 2560 และสร้างรายได้จำนวน 2.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.54% จากปี 2560

ประธาน สทท.กล่าวว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมกับแผนประชาสัมพันธ์พื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

โดย สทท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้เร่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐานและเชื่อมต่อระบบการเดินทางต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยว และสถานประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานสองคล้องกับความสามารถในการรองรับของพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้นโยบายที่มีความสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและเข้าถึงทุกพื้นที่ ในส่วนของผู้ประกอบการควรพัฒนาคุณภาพสินค้า และการให้บริการให้อยู่ในมาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ให้มีกลไกในการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปรับตัวพร้อมต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวและกระแสที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้อย่างมีคุณภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ