ADB ทำสัญญาสนับสนุนเงินกู้แก่ไทย 3.4 พันลบ.สร้างทางหลวงเชื่อมโยง CLMV คาดแล้วเสร็จปี 65

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2018 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้ลงนามในสัญญาทางการเงินกับ Mr. Ramesh Subramanian ผู้อำนวยการ สำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ประจำประเทศไทย ซึ่ง ADB จะสนับสนุนค่าก่อสร้างในโครงการทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 22 ช่วงอำเภอหนองหาน - อำเภอพังโคน ช่วงสกลนคร - นครพนม (กิโลเมตรที่ 180 - 213) และทางหลวงหมายเลข 23 ช่วงร้อยเอ็ด - ยโสธร (โครงการฯ) ของกรมทางหลวง กรอบวงเงินไม่เกิน 99.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่าไม่เกิน 3,404 ล้านบาท และมีเงื่อนไขทางการเงินที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ ADB กำหนด

ทั้งนี้ การลงนามสัญญาดังกล่าว กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมทางหลวง และ ADB จะได้ร่วมกันพิจารณาเงื่อนไขและรายละเอียดสัญญาทางการเงินให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารโครงการฯ และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และครบถ้วนตามมาตรฐานการเบิกจ่ายของ ADB ต่อไป

อนึ่ง เงื่อนไขสัญญามีกรอบวงเงิน 99.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่ากับ 3,404 ล้านบาท อายุเงินกู้ 13 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace Period) 3 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6MLIBOR + Spread – Rebate ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 21 พ.ย.60 อัตราดอกเบี้ย 6MLIBOR เท่ากับ 1.63% ต่อปี Spread เท่ากับ 0.50% ต่อปี Rebate เท่ากับ 0.05% ต่อปี)

ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ (Commitment Charge) 0.15% ต่อปี กำหนดเบิกจ่ายเงินกู้ในคราวเดียวทั้งจำนวน โดยจะดำเนินการแลกเปลี่ยนเงินกู้จากสกุลเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินบาท และดำเนินการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย (Cross Currency Swap : CCS) และกระทรวงการคลังจะทยอยเบิกจ่ายเงินกู้ให้แก่ผู้รับจ้างก่อสร้าง และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างตามความก้าวหน้าและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของโครงการฯ ต่อไป

สำหรับความร่วมมือกับ ADB ในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ เทคโนโลยีการก่อสร้าง การบริหารโครงการ ตลอดจนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในระดับนานาชาติจากการถ่ายทอดของผู้เชี่ยวชาญของ ADB ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการฯ ก่อสร้างมีประสิทธิภาพและแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 65 ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายถนนสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข 22 และ 23 จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเชียนหมายเลข 15 (AH15) ในส่วนที่ผ่านประเทศไทย เพื่อให้สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และยังเชื่อมต่อไปยังจีนตอนใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นโครงข่ายที่สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 (เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย) และพัฒนาเส้นทางโครงข่ายเชื่อมโยงพื้นที่ด่านชายแดนช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC) ที่คาดว่าจะมีปริมาณจราจรเพิ่มสูงขึ้นจากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ได้อย่างมีศักยภาพต่อไป


แท็ก เอเชีย   asian  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ