พาณิชย์ ถกหน่วยงานเกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้าเฝ้าระวังที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปมีมาตรการทางการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2018 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดประชุมเรื่องแนวทางการป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) โดยเป็นการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกับกรณีมาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯ กำหนด ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) มาตรการภาษีสินค้าตามมาตรา 301 และมาตรการทางภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมตามมาตรา 232 ซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศที่ถูกดำเนินมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ หลบเลี่ยงผ่านประเทศไทย พร้อมขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไทย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ไทยไม่ได้รับยกเว้นจากมาตรการ 232 ของสหรัฐฯ รวมทั้งอาจถูกสหรัฐฯ เปิดไต่สวนการหลบเลี่ยงฯ (Anti-Circumvention) ในสินค้าเดียวกันจากไทยด้วย

"เพื่อป้องกันไม่ให้หนังสือรับรองฯ Form C/O ทั่วไปของไทยกลายเป็นเครื่องมือในการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโดยการตรวจสอบการนำเข้าจากประเทศที่ถูกดำเนินมาตรการฯ ที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ในพิกัดศุลกากรเดียวกันและมีการขอ Form C/O ทั่วไป จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบย้อนหลังเพื่อไม่ให้ผู้ส่งออกมาขอ Form C/O ทั่วไปได้อีกต่อไปในกรณีที่พบการกระทำผิด" นายอดุลย์ กล่าว

หลังจากที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันแล้ว แนวทางที่จะดำเนินการในเบื้องต้นนั้น กรมการค้าต่างประเทศจะประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการส่งออกสินค้าเฝ้าระวังที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีมาตรการทางการค้า และจะเชื่อมโยงข้อมูลการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ากับกรมศุลกากร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งจะพัฒนาระบบฐานข้อมูลของไทยให้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจติดตามรายการสินค้าดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ผู้ส่งออกเตรียมความพร้อมด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับ Form C/O ทั่วไปเพื่อรองรับการตรวจสอบในภายหลังจากหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าหรือกรมการค้าต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ