ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะธุรกิจไทยเตรียมรับมือผลกระทบจากสงครามการค้ายืดเยื้อในปี 62 คาดกระทบส่งออก 0.5-0.6% ของ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 26, 2018 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สงครามการค้าของสหรัฐฯ ในปี 2561 คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากผลของมาตรการเก็บภาษีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ เหล็กและอะลูมิเนียมที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ต้นปีมีมูลค่าไม่มาก แม้จะรวมกับผลจากการเก็บภาษีสินค้าจีนอีก 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ทยอยเก็บภาษีรอบแรกไปแล้ว และกำลังรอเก็บอีกรอบในช่วงที่เหลือของปี ก็ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางการส่งออกสุทธิเพียง 280-420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สถานการณ์สงครามที่จะต่อเนื่องจากการกีดกันของสหรัฐฯ กับสินค้าจีนรอบใหม่ที่มีมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมต่อมายังการส่งออกของไทยและธุรกิจไทยปีต่อไป

"ในปี 2562 จะเป็นปีที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนร้อนแรงมากขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีสินค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 25% รอบมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ต่อเนื่องมาและเริ่มส่งผลกระทบเต็มปี รวมกับผลกระทบจากการเก็บภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ด้วยมูลค่ามากถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจจะเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 10% ช่วงปลายปี 2561 และส่งผลกระทบในช่วงต้นปี 2562 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนเก็บภาษีสินค้าที่เหลือของจีนอีกในระยะต่อไป โดยมาตรการข้างต้นยิ่งตอกย้ำถึงความปั่นปวนของการค้าโลกที่ยังรออยู่ในปีหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบที่จะเกิดกับการส่งออกของไทยในปี 2562 โดยเชื่อว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนน่ายืดเยื้อตลอดปี และจะยุติอยู่แค่การเก็บภาษีรอบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับรอบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรวมแล้วจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2562 สูญเสียประโยชน์คิดเป็นมูลค่าสุทธิ 2,400-2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.5-0.6% ของ GDP โดยประเมินจากรายการสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศออกมาเบื้องต้น

ทั้งนี้ ในบรรดารายการสินค้าดังกล่าว ประกอบด้วย 1) สินค้าไทยบางประเภทที่น่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปแทนที่สินค้าจีนในสหรัฐฯ อาทิ พลาสติก วงจรไฟฟ้า และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เป็นต้น 2) สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ได้ทั้งประโยชน์และเสียประโยชน์ หากเป็นกลุ่มชิ้นส่วนและส่วนประกอบอาจเสียประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่จีนใช้ผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำตลาดในอาเซียนก็มีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าจีนเข้ามาช่วงชิงตลาดไป รวมทั้ง 3) สินค้าเหล็กก็มีความเสี่ยงจะสูญเสียตลาดในอาเซียนด้วยเช่นกัน

"ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าว่าจะบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่เพื่อใช้เป็นช่องทางระบายสินค้า ตลอดจนการโยกการส่งออกไปตามภาคธุรกิจในต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อหลบเลี่ยงผลจากการกีดกันทางการค้าดังกล่าว" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบข้างต้นยังไม่รวมกรณีที่สหรัฐฯ จะใช้แผนการขึ้นภาษีรถยนต์ภายใต้มาตรการปกป้องความมั่นคงของชาติ มาตรา 232 ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะเสมือนเป็นการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับชาติผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างสหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น แม้ในขณะนี้สหรัฐฯ กับ EU จะเริ่มเจรจารอมชอมกันได้บางส่วน แต่ก็ต้องติดตามต่อไป ถ้าหากสหรัฐฯ นำแผนนี้ออกมาใช้กดดันประเทศอื่นๆ ก็จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงทำให้การส่งออกยานยนต์ไทยไปสหรัฐฯ ยากขึ้น รวมทั้งส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับญี่ปุ่นชะลอลงตาม ในที่สุดอาจยิ่งส่งผลลุกลามมาสู่ภาคการผลิตในไทยมากกว่าเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้การนำของนายโดนัดล์ ทรัมป์ ที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อไปอย่างน้อย 2 ปี มีความเป็นไปได้ว่าสงครามการค้าอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางเจรจากับ EU จนสามารถตกลงผลประโยชน์ร่วมกันได้สำเร็จ คลี่คลายแรงกดดันต่อการค้าโลกได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลานับจากนี้ไปก็คงต้องรอลุ้นว่าสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะมีบทสรุปเช่นไร ถ้าหากสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีสินค้าที่เหลือของจีนตามที่เคยข่มขู่ไว้อีกประมาณ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอาจเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ารอบอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ เพราะสินค้าที่เหลือส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์เคลื่อนที่ เสื้อผ้า และของเล่น) และคงจะเริ่มเก็บภาษีในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 จะทำให้ผลกระทบจากการเก็บภาษีในรอบนี้เกิดขึ้นในปีถัดไป

"อาจกล่าวได้ว่าในปี 2563 จะเป็นอีกปีที่ภาพการค้าโลกยังคงปั่นป่วนหนักขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีไม่เพียงกดดันการส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศเหล่านี้เท่านั้น แต่สถานการณ์ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบจากกำลังซื้อ และเศรษฐกิจของนานาชาติที่ซบเซาลง ซ้ำเติมการส่งออกของไทยลดลงอีก" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ