พาณิชย์ เดินหน้าเพิ่มศักยภาพ SME 5 จ.ภาคใต้ ดันสินค้าฮาลาลไทยบุกตลาดกาตาร์รองรับเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2018 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาผู้ประกอบการอาหารฮาลาลใน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา, สตูล, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส เพื่อเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 5 จังหวัดภาคใต้ให้มีความสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ภายในปี 2563 เนื่องจากตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่ใหญ่มีผู้บริโภคชาวมุสลิมรวมกันเกือบ 2,000 ล้านคนทั่วโลก

"ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าอาหารฮาลที่มีศักยภาพในการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ยังขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง รวมถึงขาดทักษะด้านการพัฒนาต่อยอดสินค้าที่ผลิตให้สามารถส่งออกได้ ดังนั้นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงได้เข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลให้มีความรู้ ความเข้าใจในด้านการส่งออก การตลาดต่างประเทศ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มาตรฐานฮาลาล การบริหารจัดการองค์กรอย่างมืออาชีพ การร่วมแสดงสินค้า และเจรจาการค้า โดยสินค้าฮาลาลที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำมาจัดแสดงในงานแฟร์ต่างๆ ของกรมฯ เช่น งาน THAIFEX – WORLD OF FOOD ASIA เป็นต้น" นางจันทิรา กล่าว

พร้อมระบุว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปยังประเทศที่มีผู้บริโภคชาวมุสลิมจำนวนมาก รวมถึงประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีลักษณะพิเศษด้านมาตรฐานตามหลักศาสนา พร้อมทั้งมีศักยภาพและกำลังซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญหลายประเทศกำลังจะมีกิจกรรมระดับโลก และมีความต้องการอาหารฮาลาลจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศกาตาร์ที่จะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2022 ต่อจากประเทศรัสเซียที่เพิ่งแข่งขันจบไปแล้ว

"กาตาร์ ถือเป็นประเทศมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีทีมฟุตบอลของตนเองเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกมาก่อน แต่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติประเทศแรกที่จะได้จัดฟุตบอลโลก และเป็นประเทศที่ 3 ของทวีปเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพต่อจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่เคยจัดร่วมกันในปี 2002" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

นางจันทิรา กล่าวต่อว่า สำหรับจุดแข็งสินค้าไทยในตลาดตะวันออกกลางรวมทั้งกาตาร์ ส่วนใหญ่มองว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งชื่อเสียงของสินค้าไทยค่อนข้างดีในมุมมองของประเทศในแถบตะวันออกกลาง ดังนั้น โอกาสที่ไทยจะส่งสินค้าเข้าไปขยายตลาดจึงมีความเป็นไปได้สูง แม้ว่าการแข่งขันจะสูงก็ตาม เพราะกาตาร์เป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากทั่วโลกเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล, สินค้าเกษตร, เกษตรแปรรูป, เครื่องประดับ อัญมณี และอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ การส่งสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมรวมถึงกาต้าร์ในปี 2560 มีมูลค่ารวมสูงถึง 5,630 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.73% หากนับเฉพาะการส่งออกสินค้าฮาลาลไทยไปยังประเทศกาตาร์จะมีมูลค่ารวม 40.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 18.84% โดยกลุ่มสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, สินค้าประมง, ปลา, ข้าว และผลไม้กระป๋อง/แปรรูป

อย่างไรก็ดี นอกจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะให้ความสำคัญในการพัฒนาเอสเอ็มอี 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ที่ผ่านมายังได้ดำเนินงานยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพการตลาดสินค้าฮาลาลสู่สากลอีกหลายกิจกรรม เช่น การทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันมาตรฐานฮาลาล และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

พร้อมกันนี้ ยังได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วโลก เช่น งาน Gulfood 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา จัดขึ้นที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 4,238 ราย จาก 100 ประเทศทั่วโลก, งานแสดงสินค้า Malaysia International Halal Showcase (MIHAS 2018) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จำนวนผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 778 บริษัท จาก 32 ประเทศทั่วโลก และร่วมงานแสดงสินค้า Beauty World Middle East 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพความงามที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในการสร้างภาพลักษณ์สินค้าฮาลาลของไทย การสร้างการรับรู้ในสินค้าฮาลาลรวมถึงตรารับรองฮาลาลของไทย และบทบาทของการเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกสินค้าฮาลาลมาตรฐานระดับโลกของไทยสู่ตลาดโลกผ่านกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ