(เพิ่มเติม1) ธปท.เผยเศษฐกิจไทย มิ.ย.61 ขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งอุปสงค์ในประเทศ-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 31, 2018 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.61 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยจากราคาผลไม้และเนื้อสัตว์ที่หดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับผลของฐานราคาผักในปีก่อนที่อยู่ระดับสูง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ

มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งที่ไม่หักและหักทองคำขยายตัวเท่ากันที่ 10% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ดีต่อเนื่องและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น โดย 1) สินค้าที่มูลค่าการส่งออกเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบขยายตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังจากการขยายกำลังการผลิตในช่วงก่อนหน้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรรวม อุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้า และชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันปาล์ม และน้ำตาลเป็นสำคัญ และ 4) ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตามการส่งออกรถกระบะ และชิ้นส่วนยานยนต์โดยเฉพาะกระปุกเกียร์

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัว 11.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและฮ่องกง ประกอบกับนักท่องเที่ยวมาเลเซียกลับมาขยายตัว ส่วนหนึ่งจากผลของเทศกาลฮารีรายอที่เริ่มเร็วกว่าปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปและรัสเซียหดตัวส่วนหนึ่งจากการชะลอการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก ทั้งนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 7.7% จากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มหลัก

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของทั้งรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมและรายได้รวมลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการผลิตในหมวดยานยนต์ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเคมีภัณฑ์

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนของภาคเอกชน ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการลงทุน อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของกรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นสำคัญ สำหรับรายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 12.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากหักทองคำ ขยายตัว 16.1% โดยเป็นการขยายตัวในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ 1) หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ขยายตัวตามการนำเข้าเชื้อเพลิงจากทั้งด้านราคาและปริมาณ การนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในหมวดดังกล่าว และโลหะตามการนำเข้าเหล็กเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง 2) หมวดสินค้าทุน ขยายตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องฉีดขึ้นรูปพลาสติก และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามการนำเข้าทั้งหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว และ 4) หมวดยานยนต์และชิ้นส่วนขยายตัว จากการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ ชิ้นส่วนกระปุกเกียร์ และเครื่องยนต์ สอดคล้องกับการผลิตและยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.38% ชะลอลงจาก 1.49% ในเดือนก่อน จากราคาผลไม้และเนื้อสัตว์ที่หดตัวตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก และผลของฐานราคาผักในปีก่อนที่อยู่ระดับสูงเป็นสำคัญ แม้ว่าราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามรายรับจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี สำหรับดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน โดยด้านสินทรัพย์เป็นการไหลออกสุทธิจากการนำเงินออกไปฝากยังต่างประเทศของทั้งสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน (ODC) เพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เป็นสำคัญ ขณะที่ด้านหนี้สินเป็นการไหลออกสุทธิจากการขายตราสารหนี้และตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติสอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

นางสาวพรเพ็ญ ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ว่าขยายตัวในทุกองค์ประกอบ โดยการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวดสินค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตาม ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีจากการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/61 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 1/2561 ที่ขยายตัวได้ 4.8% ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเทียบปีก่อนหน้าเป็นการเติบโตที่แผ่วลง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องฐาน แต่เมื่อเทียบเป็นไตรมาสจะขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่ขยายตัว แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า แต่ก็ยังมีกำลังซื้อจากต่างประเทศ มีการขยายกำลังการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อมาที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐที่จะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลังจากถึงปีหน้า โดยเฉพาะโครงการ EEC"นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นผลหลักจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มอาหารและมิใช่อาหาร อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิ

อย่างไรก็ตาม ธปท.อยู่ระหว่างติดตามความเสี่ยงเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ว่าจะเป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ จากเหตุการณ์เรือล่ม ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวจาก จีนไม่มาเที่ยวไทย โดยจะเห็นได้จากช่วงเดือน ก.ค. ยอดจองที่พักของนักท่องเที่ยวจีนลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว เป็นการปรับตัวในระยะสั้น เพราะมองว่านักท่องเที่ยวจีนมีความอ่อนไหวต่อเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจากการหารือกับผู้ประกอบการ ให้ความเห็นว่าไตรมาส 4/61 นักท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ