ธปท.เตรียมหารือภาคธุรกิจดันยอดพร้อมเพย์ เบื้องต้นคาดขยายเพดานโอนเงินชัดเจนปลายปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 7, 2018 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.สริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมหารือภาคธุรกิจเพิ่มเติมเพื่อสำรวจความต้องการในการเข้าใช้งานระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) หลังจากพบว่ามีการใช้งานดังกล่าวค่อนข้างน้อย หรือมีวงเงินการโอนของภาคธุรกิจอยู่ระหว่าง 7 แสนบาท/ครั้ง ถึง 1 ล้านบาท/ครั้ง โดยเบื่องต้นอาจมีการขยายเพดานการโอนเงินเป็นอันดับแรก คาดว่าจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจได้ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

"การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจแล้ว ยังคำนึงถึงประโยชน์ที่ภาคธุรกิจจะได้รับ เช่น เรื่องของการประหยัดต้นทุนในการโอนเงิน เป็นต้น ซึ่งคาดหวังว่าการใช้งานระบบพร้อมเพย์ของภาคธุรกิจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต"น.ส.สริธิดา กล่าว

ปัจจุบัน พร้อมเพย์มียอดผู้ใช้งานรวมทั้งสิ้น 43.6 ล้านเลขหมาย (ยอดการลงทะเบียน ณ วันที่ 15 ก.ค.61) แบ่งเป็น บัตรประชาชน 28.3 ล้านหมายเลข, โทรศัพท์มือถือ 15.2 ล้านหมายเลข, eWallet-ID 85,000 หมายเลข, นิติบุคคล 59,000 หมายเลข และมียอดการใช้งาน (ปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อวัน ณ เดือน มิ.ย.61) อยู่ที่ 2.4 ล้านรายการ/วัน โดยมียอดสะสมรวมตั้งแต่เปิดใช้งานอยู่ที่ 450 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.2 ล้านล้านบาท (ยอดการใช้งาน ณ วันที่ 27 ก.ค.61)

ด้านนายบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ยังอยู่ระหว่างผลักดันการใช้ระบบชำระเงินด้วย QR Code เพื่อขยายการใช้งานในทุกพื้นที่ เช่น โรงเรียน สถานีรถไฟ รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก และเรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้น และอยู่ระหว่างศึกษาการใช้ข้อมูลจากธุรกรรมผ่าน QR Code มาประเมินความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพื่อประเมินการปล่อยสินเชื่อแทนการประเมินจากงบการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าติดตั้ง QR Code ไปแล้วทั้งหมด 2 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ

สำหรับการทดสอบ Regulatory Sandbox ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ทดสอบการเปิดบัญชีโดยไม่ต้องเข้าไปยังสาขา (e-KYC) อยู่จำนวน 1 ราย ซึ่งขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์กำลังเข้าร่วมทดสอบเพิ่มเติมอีก 1 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ