นักวิชาการคาด กสทช.ทบทวนเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 MHz หลังปี 65 เชื่อเคาะราคาคลื่น 1800 MHz ไม่ร้อนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 8, 2018 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงความคิดเห็นต่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 1800 MHz ว่า การที่ไม่มีผู้เข้าประมูลคลื่น 900 MHz แสดงว่าเอกชนมองว่าราคาและเงื่อนไขของการประมูลคลื่น 900 MHz ไม่เอื้อหรือดึงดูดให้สนใจเข้ามาลงทุน โดยราคาตั้งต้นที่สูงและมีคลื่นขนาดแถบความถี่ (Bandwidth) เพียง 5 MHz

อีกเหตุผลที่สำคัญ คือ เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องจัดทำการป้องกันการรบกวนกับความถี่ข้างเคียงที่อาจจะมีการใช้กับอาณัติสัญญาณของระบบราง ที่แม้จะมีการให้เป็นส่วนลดเพื่อหักจากค่าประมูลแต่จะเห็นว่าอาจมีความยุ่งยากต่อไปได้ในอนาคตร่วมถึงเพดานของต้นทุนของระบบป้องกันการรบกวนดังกล่าวอาจสูงกว่าที่ประเมิน ทั้งหมดเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เอกชนพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและไม่สนใจคลื่น 900 MHz

ฉะนั้น อนาคตของคลื่น 900 MHz นอกเหนือจากการต้องรอความชัดเจนในเรื่องการนำไปใช้กับระบบรางตามที่กระทรวงคมนาคมร้องขอ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่การนำไปใช้ และระบบที่จะใช้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการระบบรางรายใดเนื่องจากในอนาคตจะมีหลายราย และหลายระบบทั้งรถไฟเดิม รถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-ญี่ปุ่น รถไฟ EEC เชื่อมสามสนามบิน ที่แต่ละรายอาจจะมีเทคโนโลยีสำหรับระบบอาณัติสัญญาณและใช้คลื่นที่ต่างกัน โดยอาจจะขอความถี่ กสทช.มาเพิ่มก็ได้ ดังนั้น แม้คลื่น 900 MHz จะยังไม่ได้ถูกประมูลไปในครั้งนี้ หรือหากส่วนของระบบรางไม่ได้มีการนำไปใช้หรือมีความชัดเจน หลังปี 65 กสทช.อาจทบทวนและดึงกลับมาจัดสรรกับกิจการที่เหมาะสมใหม่

สำหรับการประมูลวันที่ 19 ส.ค.เชื่อว่าการเคาะราคาไม่น่าดุเดือด โดยน่าจะเคาะคนละครั้ง สำหรับ บมจ.แอดววานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอสหากเข้าประมูลและได้คลื่น 5 MHz ไปรวมกับของเดิมจะมีคลื่นผืนใหญ่ 20 MHz โดยเอไอเอสน่าจะเป็นผู้เลือกสล็อตก่อน โดยจะได้สิทธิการเลือก lot1 ที่ติดกับคลื่นเดิมแบบไม่มีเงื่อนไข

บทเรียนการจัดประมูลครั้งนี้ที่ กสทช. ได้ใช้ความพยายามในการจัดการประมูลคลื่นให้สำเร็จทั้ง 2 รอบในปีนี้ ถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว โดยทั้งมีการปรับเกณฑ์และเงื่อนไขเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ปรับจะไม่แตะเรื่องราคาตั้งต้นเลยก็ตาม เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องและเกรงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา โดยหากการประมูลครั้งนี้จบลง จะเป็นที่ชัดเจนว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปควรเป็นหน้าที่ของกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่กระบวนการสรรหายังค้างคาอยู่

นายสืบศักดิ์ คาดหวังว่า กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่จะสรรหาเข้ามาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในภาพรวมต่อกระบวนการวางแผนและจัดสรรคลื่นให้รองรับกิจการโทรคมนาคมที่กำลัจะพลิกโฉมและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเรียนรู้ข้อจำกัดและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดในกระบวนการประมูลคลื่นที่ผ่านๆ มา เพื่อให้การนำคลื่นออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งการพัฒนา 5G และโทรคมอื่นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ