(เพิ่มเติม) บอร์ด PPP ไฟเขียวเอกชนร่วมทุนสถานีขนส่งสินค้านครพนม-เชียงราย,เร่งคมนาคมชงรถไฟสายสีม่วงใต้-สายสีส้มภายในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 9, 2018 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า ของกรมการขนส่งทางบก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มูลค่าเงินลงทุน 1,361 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนภาคเอกชนลงทุนในค่าก่อสร้างอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ รวมถึง O&M ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี

โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,829 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 ปี โดยให้เสนอ 2 โครงการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต่อไป

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการ PPP เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 8 โครงการ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยคาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก จะสามารถนำเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 ประมาณเงินลงทุนรวม 366,274 ล้านบาท รวมถึงยังได้เร่งรัดโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ให้สามารถเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดจากปี 2562 เป็นภายในปี 2561

"ภายในเดือน พ.ย.61 จะเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณา 2 โครงการ จากทั้งสิ้น 8 โครงการ ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก วงเงินลงทุนรวม 3.66 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันโครงการลงทุนผ่านมาตรการ PPP Fast Track ไปแล้วคิดเป็นวงเงิน 4 แสนกว่าล้านบาท" นายประภาศกล่าว

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP รับทราบสถานะของโครงการร่วมลงทุนและเร่งรัดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาของสัญญาเหลือน้อยกว่า 5 ปี ดำเนินการจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดให้แล้วเสร็จโดยเร็วตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยคำนึงถึงภาระทางด้านการเงิน ทรัพย์สิน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนผู้ใช้บริการ

นายประภาศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯ ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และ สคร. ไปพิจารณารายละเอียดของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นนครปฐม-ชะอำ วงเงินรวม 7.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะว่าโครงการดังกล่าวน่าจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทาน ไม่ใช่ พ.ร.บ.ทางหลวงพิเศษ ซึ่งมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันในเรื่องการคิดค่าผ่านทางอยู่ โดยขอให้กลับมาเสนอให้คณะกรรมการ PPP พิจารณาอีกครั้งในเดือน ก.ย.61

"ยังมีข้อโต้แย้งกันในเรื่องอัตราค่าผ่านทาง เพราะตาม พ.ร.บ.ทางหลวงสัมปทานไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ ขณะที่ พ.ร.บ.ทางหลวงพิเศษ ที่มีการกำหนดเพดานอัตราค่าผ่านทางไว้ในกฎหมายชัดเจน ทางคณะกรรมการ PPP จึงต้องการให้กลับไปดูว่าโครงการลงทุนนี้เข้าข่ายกฎหมายใด แต่ข้อโต้แย้งเรื่องอัตราค่าผ่านทางนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเก็บแพง หรือไม่แพง เพราะการพิจารณาเก็บค่าผ่านทางนั้น จะต้องดูความเหมาะสมและปัจจัยรอบด้านประกอบด้วย" นายประภาศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ