นางสุวัฒนา กมลวัฒนนิศา รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา เปิดเผยว่า กนอ.ได้ร่วมกับบริษัท ซี จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซีในจังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ ในต.มาบข่าและต.มาบข่าพัฒนา ในอ.นิคมพัฒนา และต.หนองระลอก อ.บ้านค่าย ในรูปแบบการร่วมดำเนินงานที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 5.6 พันล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายผลักดันระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีซีจีตั้งอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา 35 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณารายงานผลศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก
นอกจากนี้ การจัดตั้งโครงการยังมุ่งเน้นรองรับนักลงทุนที่สื่อสารด้วยภาษาจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ซึ่งคาดว่าโครงการน่าจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูง เนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ EEC โดยตั้งเป้าหมายขายพื้นที่ได้หมดภายในระยะเวลา 6 ปี พร้อมก่อให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และการจ้างงานไม่น้อยกว่า 20,000 อัตรา
ด้านนายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เวลาในการรวบรวมที่ดินมานานกว่า 30 ปี และได้เริ่มต้นเจรจากับ กนอ.มาเมื่อ 6 ปีที่แล้วจนประสบความสำเร็จในวันนี้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกจะดำเนินการในไตรมาสแรกในปี 62 เนื้อที่ 900 ไร่ เฟสที่สอง 700 ไร่ในปี 63 และเฟสที่สาม 500 ไร่ในปี 64 โดยจะดำเนินการต่อเนื่องกันไป สามารถรองรับโรงงานได้ 80 แห่ง
เนื่องจากโครงการอยู่ในแนวท่อก๊าซจึงมีผู้สนใจลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าในช่วงรอยต่อเฟสที่สองและสาม โดยระยะแรกจะใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก่อน
สำหรับบริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น เป็นการร่วมทุนจากบริษัท ซีพีแลนด์ 50%, บริษัทสัญชาติจีน 48% และอีก 2% เป็นบริษัทจีนสัญชาติไทย มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 2 พันล้านบาท และจะลงทุนโครงการนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท โดยเงินทุนเบื้องต้นเป็นผลประกอบการของบริษัทฯ แต่การลงทุนในระยะต่อไปจะมีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน
"โครงการนี้ถ้าเทียบกับการลงทุนในจีนถือว่าเป็นโครงการเล็กมาก แต่ในประเทศไทยถือว่าเป็นโครงการขนาดกลาง โครงการนี้จะดึงเทคโนโลยีใหม่จากจีนเข้ามา เช่น เครื่องมือทางการแพทย์สมัยใหม่ แต่ไม่ได้ปิดกั้นบริษัทต่างชาติอื่นๆ"นายสุนทร กล่าว