คลัง เปิดทาง"พิโกไฟแนนซ์"รับจำนำทะเบียนรถได้ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน-เล็งขยายวงเงินสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 30, 2018 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ฉบับที่ 2 โดยได้ปรับปรุงนิยามของสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับให้รวมถึงสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์

ทั้งนี้ เงื่อนไขอื่นยังเป็นไปตามเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถให้บริการสินเชื่อได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนรายย่อยที่เป็นเจ้าของยานพาหนะสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของตนเองเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาหนี้นอกระบบในอีกทางหนึ่ง

"กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) สามารถให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ให้บริการสินเชื่อได้มากขึ้น...เงื่อนไขการปล่อยกู้ยังเป็นเหมือนเดิมคือปล่อยสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายได้รวมกันไม่เกิน 36% ต่อปี" นายพรชัย กล่าว

ณ สิ้นเดือน ก.ค.61 มีผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ที่ได้รับอนุญาตและเปิดดำเนินการแล้ว 287 ราย ใน 60 จังหวัด มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 2.65 หมื่นราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 680 ล้านบาท โดยมีหนี้เสียเพียง 2.69% เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ได้ทันที

นายพรชัย กล่าวด้วยว่า สศค. ยังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ผู้ประกอบการปล่อยกู้จำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ให้กับบุคคลรายย่อยได้มากกว่า 5 หมื่นบาท ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดและกฎหมายอ้างอิง คาดว่าผู้ที่สนใจปล่อยสินเชื่อจะต้องมาขอใบอนุญาตประกอบการกิจการใหม่ เพราะพิโกไฟแนนซ์เป็นการปล่อยกู้อเนกประสงค์และถูกจำกัดไว้ไม่ให้ปล่อยกู้เกิน 5 หมื่นบาท

"จากการสำรวจข้อมูลของ สศค. และ ธปท. ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเล็กประกอบกิจการจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ 1 พันราย ปล่อยกู้ให้รายย่อย 3 ล้านราย เป็นวงเงินสินเชื่อ 2 แสนล้านบาท" นายพรชัย กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. .... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้บริการทางการเงินประเภทการให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง ที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับที่ดูแลอย่างชัดเจน และประชาชนจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในการเปรียบเทียบและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ดีเพียงพอ จึงมีแนวโน้มที่ผู้ใช้บริการจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เช่น ให้ทำสัญญาที่มีเงื่อนไขไม่เป็นธรรม ถูกเรียกดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราที่ไม่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ