TMB Analytics เตือนนลท.อย่าชะล่าใจ เตรียมรับมือบอนด์ยีลด์ระยะยาวสูงกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2018 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) แนะนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวทั้งสินทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ที่ทั้งผลตอบแทนพันธบัตร (bond yield) 10 ปีของสหรัฐฯและของไทยจะพุ่งสูงขึ้น แม้ตอนนี้จะยังทรงตัวในระดับต่ำก็ตาม โดยนักลงทุนอาจจะเริ่มมองหากลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ที่จะช่วยลดผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นบนผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุน

ในภาวะปกติ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ดีส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น bond yield พันธบัตร 10 ปีก็มักจะขยับสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวร้อนแรงขึ้น แต่ทว่าเงินเฟ้อกลับยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ bond yield ระยะยาวของสหรัฐฯขยับขึ้นค่อนข้างช้า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเหตุการณ์นี้จะยังดำเนินต่อไป โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าเงินเฟ้อจะเฉลี่ยเพียง 2.1% ในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวถึง 3.6% เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 2008 ที่เศรษฐกิจขยายเพียง 2.5% แต่เงินเฟ้ออยู่ระดับ 2%

อย่างไรก็ตาม TMB Analytics มองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อสหรัฐจะปรับเพิ่มขึ้นและทำให้ bond yield สหรัฐฯสูงขึ้น โดยหากพิจารณาตลาดแรงงานสหรัฐฯจะเห็นว่าค่อนข้างตึงตัวมาก จากความต้องการแรงงานกว่า 6.7 ล้านตำแหน่งซึ่งสูงกว่าตัวเลขคนว่างงานที่ตอนนี้มีเพียง 6.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี จากแนวโน้มการแย่งแรงงานที่สูงขึ้น จะกดดันให้นายจ้างต้องปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในที่สุด

อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างของเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป ทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต และ การเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้นของธุรกิจ E-commerce อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่เคยเป็นในอดีต แต่สุดท้ายแล้วเงินเฟ้อก็จะต้องค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอุปสงค์และอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลในตลาด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา bond yield ที่ปรับลดลงมีสาเหตุสำคัญมาจากความต้องการซื้อพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นจากการใช้มาตรการซื้อสินทรัพย์หรือการทำคิวอี (Quantitative Easing) ของธนาคารกลางหลักอย่าง Fed ECB และ BOJ ทำให้ bond yield 10 ปีสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแตะจุดต่ำสุดราว 1.5% ในปี 2016 จากระดับ 3.5% ก่อนการทำคิวอี

แต่หลังจากนี้ธนาคารกลางหลักจะเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว โดยเริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปัจจุบันยุติการซื้อเพิ่มแล้วธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแผนจะเริ่มยุติการซื้อในช่วงปลายปีนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) แม้ยังไม่มีแผนการยุติการซื้อที่ชัดเจนแต่ก็ลดปริมาณการซื้อพันธบัตรลงต่อเนื่อง ความต้องการซื้อพันธบัตรสหรัฐในอนาคตจึงมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทั้งการลดภาษีเงินได้และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งย่อมทำให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น และเมื่อตลาดพันธบัตรขาดผู้ซื้อรายใหญ่อย่างธนาคารกลางหลักไป แต่รัฐบาลมีความต้องการออกบอนด์เพิ่มขึ้น bond yield สหรัฐฯจึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น TMB Analytics มองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐ จะเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยจะอยู่ที่ 3% 3.30% และ 3.50% ณ สิ้นปี 2561 2562 และ 2563 ตามลำดับ นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปีไทย ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการปรับตัวของบอนด์ยีลด์10ปีสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะบอนด์ยีลด์ 10 ปีไทยจะอยู่ที่ระดับ 3% 3.40% และ 3.65% ณ สิ้นปี 2561 2562 และ 2563 ตามลำดับ

"TMB Analytics มองว่าแม้ตลาดจะคาดว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จะทรงตัวในระดับต่ำต่อไปจากเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นช้า แต่ทว่านักลงทุนไม่ควรชะล่าใจ เพราะยังมีปัจจัยจากตลาดแรงงานที่ตึงตัวมากที่จะดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการซื้อพันธบัตรที่ลดลงของธนาคารกลางหลัก สวนทางกับการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปีสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์10ปีไทยที่นิ่งมานานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ