นายกฯวาง 3 แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง ต่ออายุแรงงานต่างด้าว-นำเข้า-เปิดโอกาสแรงงานอื่นทำงานประมง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 9, 2018 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงในขณะนี้ ว่า ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำภาคประมงที่สำคัญรายหนึ่งของโลก และในแต่ละปีไทยมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ประมงเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันแรงงานภาคประมงมีไม่เพียงพอ และคนไทยเองไม่นิยมทำอาชีพนี้ โดยวันนี้ไทยต้องการแรงงานภาคประมงราว 53,000 คน จึงจำเป็นต้องเปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหา

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแนวทางไว้ 3 อย่าง คือ ต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคประมงอยู่แล้ว นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และเปิดโอกาสให้แรงงานอื่นที่ยังอยู่ในประเทศมาทำงานในกิจการประมงได้ โดยการต่ออายุแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคประมงอยู่แล้ว และเคยผ่านการพิสูจน์สัญชาติมาก่อน จำนวน 11,000 คน ซึ่งใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 30 ก.ย.61 นั้น จะต่อให้สามารถทำงานได้อีก 2 ปีจนถึงวันที่ 30 ก.ย.63 โดยให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวไปรายงานตัวที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ในจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ภายในวันที่ 30 ก.ย.61

ส่วนการนำเข้าแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา ล่าสุดทางการเมียนมาตอบรับที่จะส่งแรงงานเข้ามาภายในเดือน พ.ย.61 ประมาณ 40,000 คน รัฐบาลจะเปิดให้บริการตรวจสุขภาพ ตรวจลงตรา จัดทำทะเบียนประวัติ ฯลฯ ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จ.ระนอง และการอนุญาตให้แรงงานอื่นที่ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล เอกสารเดินทาง ซึ่งยังมีอายุเหลืออยู่ สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานในกิจการประมงทะเลได้เป็นเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจะออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศและทำงานได้ ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนที่กำหนดต่อไป

นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานเชิญชวนนายจ้างและผู้ประกอบการประมงทะเล รีบนำแรงงานต่างด้าวไปติดต่อที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ 1 ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแบบเคาะประตูบ้านเพื่อให้เข้าถึงทุกพื้นที่ พร้อมทั้งให้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายควบคู่กันไปด้วย โดยยึดหลักปฏิบัติที่ได้ดำเนินการมาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ