(เพิ่มเติม) คนร.สั่งตั้งคณะทำงานจัดทำรายละเอียดควบรวมทีโอที-กสท มาเสนอภายในพ.ย. ก่อนชงครม.พิจารณา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 12, 2018 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 3/2561 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุม คนร.ได้พิจารณาและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง ซึ่งในภาพรวมรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจกับพนักงาน สหภาพแรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจพนักงาน และประชาชน โดยมีสาระสำคัญ และ คนร.ได้ให้นโยบาย ดังนี้

1. บมจ. ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม : คนร. รับทราบข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ในการควบรวมกิจการของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการรวมกิจการของ บมจ ทีโอที และ บมจ. กสท โดยมอบหมายให้กระทรวง DE บมจ ทีโอที และ บมจ. กสท จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการข้างต้นให้ครบถ้วนภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

2. บมจ. การบินไทย (THAI) : คนร.ได้มอบหมายให้ THAI เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานเพื่อให้เป็น National Premium Airline ได้ตามเป้าหมาย และมีผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งให้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในภาครัฐและหน่วยงานเอกชน เพื่อสร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านการขนส่งทางอากาศยานในภูมิภาคและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายรัฐบาล

3. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) : คนร.ให้ ขสมก. เร่งจัดหารถโดยสาร 3,183 คัน โดยด่วน เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชนโดยพิจารณาประเภทเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนดเส้นทางการเดินรถให้สะดวกกับประชาชนและศึกษาราคาค่าบริการมาตรฐานสำหรับขนส่งมวลชนแต่ละประเภท (Mobility Unit Price) ในราคาค่าบริการที่มีความเป็นธรรม

4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางที่สำคัญได้เป็นไปตามแผนงาน ทั้งนี้ คนร.ได้มอบหมายให้ รฟท. เร่งดำเนินการต่างๆ เช่น บริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟท. และการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการต่อไป

5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ที่ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้ว และจะทยอยเพิ่มทุนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ซึ่ง ธอท. มีผลประกอบการในช่วง 8 เดือน เป็นกำไรสุทธิทั้งสิ้น 811 ล้านบาท ทั้งนี้ คนร. ได้มอบหมายให้ ธอท. เร่งดำเนินการฟื้นฟูกิจการให้ธนาคารมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) รวมทั้งขยายฐานลูกค้ามุสลิมให้เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง และการนำเทคโนโลยีมายกระดับการดำเนินงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารในปัจจุบัน

นายประภาศ กล่าวว่า การควบรวมบมจ. ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ผ่านมติบอร์ดทั้ง 2 บริษัทมาแล้ว โดยตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อว่า บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งการควบรวมและที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียด แต่สิ่งสำคัญต้องมีการพิจารณาเรื่องเรื่องคดีความที่ยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ ต้องไปดูแนวทางว่าจะเคลียร์เรื่องคดีอย่างไร

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งจะทยอยเพิ่มทุนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และมีการแต่งตั้งประธานธนาคาอิสลามฯคนใหม่แล้วนั้น มีโอกาสที่สามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ในอนาคต

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคนร.รับทราบแผนจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำของการบินไทยแล้ว และในสัปดาห์หน้าตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมการบินไทย ซึ่งจะมีการนำเสนอรายละเอียดของแผนอีกครั้ง

"เรื่องของการมีฝูงบินใหม่ ถือว่ามีความจำเป็นในเชิงการแข่งขันทางการบิน ส่วนการซื้อแบบไหน หรือบินในเส้นทางใดบ้างต้องสอดรับกับแผน และได้ให้คำแนะนำว่า ต้องสร้างพันธมิตรทางการบินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโดยส่วนตัว เห็นว่า การซื้อฝูงบินเป็นเรื่องที่ต้องทำ และเรื่องการเงินไม่ใช่ปัญหา เพราะรัฐบาลอยู่ข้างหลังอยู่แล้ว" นายสมคิด กล่าว

ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวถึงแผนการซื้อเครื่องบินของการบินไทยจำนวน 23 ลำว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ส่งเรื่องให้การบินไทยกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากการบินไทยมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร จึงจะเสนอแผนกลับมาอีกครั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ในที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาในรายละเอียดในเรื่องแผนการซื้อเครื่องบินของ THAI แต่คนร.อยากเห็นแผนระยะยาว เพื่อการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางการบินไทยได้มีความคืบหน้าผลการดำเนินการ ทั้งในเรื่องความร่วมมือกับทางปตท.ในเรื่องของน้ำมัน ความร่วมมือกับทางธนาคารกรุงไทย (KTB) ในเรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน และความร่วมมือกับบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในเรื่องของความเชื่อมโยงข้อมูลหรือบิ๊กดาต้า

ในภาพรวมการบินไทย ในแง่ของรายได้ยังเป็นไปเป้าหมายที่ดำเนินการอยู่ ส่วนเรื่องที่การบินไทยยังมีปัญหาอยู่ คือ เรื่องของต้นทุนที่มาจากเรื่องราคาน้ำมัน และการขาดทุนเรื่องการด้อยค่าของทรัพย์สินและเครื่องบิน และจากอัตราแลกเปลี่ยนในบางส่วน ซึ่งการบินไทยจะพยายามบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ