รฟม.คาดออก TOR รถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนลบ.ต้นปี 62,รถไฟรางเบาเชียงใหม่-ภูเก็ตออก TOR ราว Q1-Q2/62

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 14, 2018 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่า รฟม.จะออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (TOR) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทในช่วงต้นปี 62 ในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) แบบ Net Cost โดยจะเป็นงานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้นทางช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทางรวม 39.6 กิโลเมตร (กม.) และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายส้มด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม (ฝั่งตะวันตก) ที่มีมูลค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท

หลังจากคณะกรรมการ รฟม.อนุมัติแล้ว ขั้นตอนจากนี้จะนำส่งกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นส่งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP ) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ โครงการนี้อยู่ในโครงการ PPP Fast Track จึงคาดว่าจะออก TOR ได้เร็ว

"สายสีส้มเราจะเปิดเป็นแบบ PPP Net cost ถ้ารายไหนเสนอราคางานโยธาต่ำ หรือให้รัฐจ่ายน้อยที่สุดก็ชนะไป และจะให้เดินรถ 30ปี"นายภคพงศ์ กล่าว

ส่วนการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่นั้น นายภคพงศ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออก พ.ร.ฎ. ให้ รฟม.สามารถดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ พังงา และภูเก็ต ซึ่งเป็นการให้อำนาจ รฟม.เข้าไปดำเนินการ นอกเหนือจากในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนขนส่งจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาแล้ว และทั้ง 2 โครงการอยู่ในโครงการ PPP Fast Track เช่นกัน รฟม.ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป คาดว่าจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.ในเดือน พ.ย.นี้ และส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการ PPP และคาดว่าจะเปิดประมูลในรูปแบบ PPP ได้ประมาณไตรมาส 1 หรือ ไตรมาส 2 ปี 62

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ สนข.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ และได้นำเสนอผลการศึกษาตามรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 60 สาระสำคัญโดยสรุปคือ ระบบหลักเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) ซึ่งเป็นโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track

ส่วนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต สนข. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ซึ่งได้ข้อสรุปในส่วนของระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tramway มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากบริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา ผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตและสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร ซึ่งได้บรรจุไว้ในโครงการตามมาตรา PPP Fast Track


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ