(เพิ่มเติม1) ผู้ว่า ธปท.เชื่อหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ไม่กระทบเงินทุนเคลื่อนย้ายรุนแรง,ชี้ 3 ปัจจัยกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 24, 2018 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชื่อว่า หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุม 25-26 ก.ย.นี้จะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดโลก เนื่องจากเฟดได้มีการสื่อสารกับตลาดได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

"จะเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างน้อย เพราะเฟดมีการสื่อสารที่ดี จึงไม่คิดว่าจะมีผลกระทบที่รุนแรง เพราะตลาดมีการคาดการณ์ไว้ในระดับหนึ่งแล้ว"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

สำหรับเรื่องของเงินทุนไหลเข้านั้น มองว่าไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยในเรื่องของส่วนต่างดอกเบี้ยเท่านั้น แต่เป็นเพราะในระบบการเงินของโลกมีสภาพคล่องสูง จึงทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามา เพราะเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนทางการเมื่องในเรื่องของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 62 นายวิรไท กล่าวอีกว่า ธปท. มองว่าภาวะตลาดเงินตลาดทุนโลกในระยะข้างหน้ายังมีความผันผวนสูง เนื่องจากมีหลายปัจจัยต่างประเทศที่ตลาดอาจไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจจะมีออกมาเพิ่มเติม ปัญหาของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศ ซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลเข้ามายังประเทศไทยแทน เนื่องจากไทยมีฐานะด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งกว่า ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่าไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง โดยปีนี้คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 35,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นเม็ดเงินก้อนสำคัญที่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

"ข้อดีคือเป็นกันชนทำให้สถานะด้านต่างประเทศของเราไม่อ่อนไหว เวลาที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับสูงขึ้น หรือเวลาที่ความเสี่ยงในระบบการเงินโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่อีกด้านต้องระวัง เพราะอาจทำให้มีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเร็วกว่าที่ควร ซึ่งเราก็ดูแลทั้งสองข้างในช่วงที่คิดว่ามีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่รุนแรง" ผู้ว่าธปท. ระบุ

แต่ทั้งนี้ จากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่เข้ามาในช่วงนี้ยังไม่พบการไหลเข้ามาอย่างผิดปกติ หรือมีการเก็งกำไรแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ ธปท.ได้ออกมาตรการดูแลด้วยการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นไปแล้ว

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า ปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญกับปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือ สภาพคล่องที่มีในระบบการเงินโลกมากกว่าเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศรอบบ้านในอาเซียน หรือเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้ เรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในปัจจัยส่วนเล็กที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะขณะนี้ตลาดให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในภาพใหญ่มากกว่า ทั้งนี้ไทยมีปัจจัยในประเทศที่สำคัญมากกว่า เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น ทิศทางการเมืองในประเทศที่มีกำหนดการเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าเรื่องของอัตราดอกเบี้ย

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ระบุว่า ความจำเป็นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากจะลดน้อยลงเรื่อยๆ นั้น ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ไม่ได้หมายความว่าหากดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นแล้วจะต้องขึ้นไปตลอด แต่ในการพิจารณาจะต้องขึ้นอยู่กับบริบทของสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้นๆ ด้วย

"การสื่อความหมายดังกล่าวไม่ได้หมายความว่านโยบายการเงินจะเปลี่ยนทิศทางจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปเป็นนโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยยังเชื่อว่าในระยะปานกลางยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง"

"ถ้าดูคำแถลงของ กนง.ในการประชุมล่าสุด จะเห็นว่ามีกรรมการ 2 คนให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่กรรมการทั้งหมดยังเห็นตรงกันว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ยังจำเป็นสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพียงแต่กรรมการ 2 คนเห็นว่าการผ่อนคลายที่มากเป็นพิเศษนั้นอาจมีความจำเป็นน้อยลง และเศรษฐกิจไทยก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว รองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้

แต่เมื่อมองในระยะยาว ยังเชื่อว่าเรายังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อย่าไปเข้าใจผิดว่าถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะต้องปรับขึ้นตลอดไปเรื่อยๆ เหมือนกรณีเฟด แต่ของเราใช้หลัก Data Dependent คือประเมินในแต่ละช่วงเวลาของการตัดสินใจ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าเมื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้วจะมีการเปลี่ยนแนวนโยบายจากผ่อนคลายไปเป็นนโยบายแบบตึงตัว และในระยะปานกลางก็ยังมองว่านโยบายการเงินยังต้องอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

พร้อมกล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์หลักของธนาคารกลาง คือต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ท่ามกลางบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะมีความท้าทายหลายเรื่อง ซึ่งอาจมีผลต่อเสถียรภาพความยั่งยืนของคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในระยะยาว ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่ธนาคารกลางจะต้องชั่งน้ำหนักตัวแปรและความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนสินค้าที่ลดต่ำลง เช่น ราคาพลังงาน ราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งราคาอาหารสด เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้ในปัจจุบันแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อไม่สูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารกลางจะต้องพยายามชั่งน้ำหนักหรือประเมินบริบทในแต่ละช่วงเวลา และจำเป็นต้องมีหลากหลายเครื่องมือทางการเงินมาใช้ประกอบ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถมาใช้ประกอบกันได้

"เมื่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่สูงเหมือนในอดีต เราต้องชั่งน้ำน้ำหนักเทียบกับความเสี่ยงด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงด้านหนึ่งที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น คือ ความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ทำให้คนประเมินความเสี่ยงทางการเงินต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยไม่เข้าใจความเสี่ยงอย่างแท้จริง นี่จึงทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น เพราะเสถียรภาพของเงินเฟ้อไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวเหมือนแต่เดิม" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้และปี 62 คาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-4% โดยมองว่ายังเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายมากขึ้นนั้น ธนาคารกลางทั่วโลกยังต้องให้ความสำคัญกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพียงแต่เป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการขยายช่วงของเงินเฟ้อให้กว้างขึ้น หรืออาจเป็นการขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นในการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ มองในระยะปานกลางมากขึ้นกว่าที่จะมองเป็นรายปี แต่ประเด็นที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การนำเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินเข้ามาเป็นอีกปัจจัยในการวางกรอบนโยบายการเงินอย่างมีระบบ ซึ่งมีหลายแนวคิดที่ขณะนี้ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเช่นเดียวกับที่ ธปท.กำลังศึกษา เพื่อจะรวบรวมปัจจัยเรื่องเสถียรภาพการเงินเข้ามา

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึง 3 ตัวแปรหลักสำคัญที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจในการใช้นโยบายการเงิน คือ 1.อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงจะออกจากกรอบเป้าหมายด้านสูงหรือไม่ แต่หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมด้านเศรษฐกิจของประชาชน ก็จะเป็นความกังวลที่น้อยกว่า 2.ความเข้มแข็งในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่กระจายตัวมากขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา และ 3.เสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งนโยบายทุกอย่างมีทั้งข้อดี และมีผลข้างเคียง การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานๆ ยอมรับว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น หนี้ในระดับสูง ฐานการออมที่ต่ำ ผลตอบแทนการออมอยู่ในระดับต่ำ ประชาชนหันไปรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ธปท. พร้อมเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายรอบด้านในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีกระบวนการเก็บข้อมูลจากฐานราก ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ ตลอดจนนักวิเคราะห์ และนักวิชาการต่างๆ

ส่วนประเด็นเรื่องสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ กนง. แสดงความเป็นห่วงมาอย่างต่อเนื่องในระยะหลังนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะออกนโยบายใดๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ