(เพิ่มเติม1) กรมเชื้อเพลิงฯ เผย PTTEP-เชฟรอนแยกวงจับมือพันธมิตรยื่นเอกสารชิงแหล่งเอราวัณ-บงกช

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 25, 2018 19:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และกลุ่มเชฟรอน แข่งประมูลเป็นผู้ดำเนินการ (operator) แหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ในอ่าวไทย โดย PTTEP ลุยเดี่ยวเข้าประมูลแหล่งบงกช หลังกลุ่มโททาล จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพันธมิตรในปัจจุบันไม่เข้าร่วมประมูลด้วย พร้อมจับมือกลุ่มมูบาดาลา จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าประมูลแหล่งเอราวัณ หลังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มเชฟรอนได้ ขณะที่เชฟรอน จับมือกับกลุ่มมิตซุย ออยล์ ซึ่งเป็นพันธมิตรเดิมเข้าร่วมประมูลทั้งแหล่งบงกช และเอราวัณ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในวันนี้มีกลุ่มเอกชนได้เข้ายื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยในฐานะผู้ดำเนินงาน

แปลง G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ 2 ราย ได้แก่

1.บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ถือหุ้น 60% ร่วมกับ บริษัท เอ็มอี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มมูบาดาลา ถือหุ้น 40%

2บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%

แปลง G2/61

1.บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 100%

2.บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 74% ร่วมกับ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด ถือหุ้น 26%

ทั้งนี้ ผู้ที่มายื่นเอกสารวันนี้ จะตัองยื่นเอกสาร ประกอบด้วย 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

หลังจากเปิดให้ยื่นซองในวันนี้แล้วก็จะใช้เวลาเพื่อพิจารณาหาผู้ชนะประมูล และคาดว่าจะนำเสนอชื่อผู้ชนะประมูลไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนธ.ค.61 หลังจากนี้ก็จะพิจารณาเรื่องการให้หน่วยงานรัฐเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 25% ต่อไป โดยครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้หน่วยงานใดเข้าร่วมลงทุน ซึ่งมีเป้าหมายจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับทั้ง 2 แปลง ในเดือน ก.พ.62

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้จะพิจารณาให้น้ำหนักราคาก๊าซธรรมชาติที่ต่ำสุดเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการพิจารณา 65% ,การแบ่งกำไรให้ภาครัฐ สัดส่วน 25% ,การจ่ายโบนัสพิเศษให้ภาครัฐ สัดส่วน 5% และการใช้พนักงานคนไทย สัดส่วน 5% โดยผู้ที่ชนะประมูลจะได้รับสัญญาเป็นผู้ดำเนินการผลิตเป็นเวลา 20 ปี และสามารถขยายระยะเวลาได้อีก 10 ปี แต่ในช่วง 10 ปีแรกจะต้องผลิตปิโตรเลียมขั้นต่ำสำหรับแหล่งบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนจากทั้ง 2 แหล่งตลอดอายุสัญญาเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.2-1.4 ล้านล้านบาท

ส่วนการที่มีผู้เข้ายื่นประมูลเป็น operator สำหรับแปลงบงกชและเอราวัณที่มีเพียง 2 รายนั้นอาจจะน้อยไป โดยเฉพาะในแหล่งบงกช ที่กลุ่มโททาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมสัมปทานเดิมของ PTTEP ที่ไม่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้อาจเป็นผลจากการที่มองว่าศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมของไทยอาจจะมีไม่มากนัก และมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างมาก

ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มเชฟรอน ได้ร่วมกับพันธมิตรเพียงรายเดียวเพื่อเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณ โดยเชื่อมั่นว่าความรู้ และความเข้าใจ รวมถึงประสบการณ์ทางธรณีวิทยาในอ่าวไทย จะเป็นจุดแข็งในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งได้

"มั่นใจว่าข้อเสนอของเราน่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีที่นำมาแสดงต่อภาครัฐ และมีความรู้ความเข้าใจทางธรณีวิทยา รวมถึงการมีเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้พัฒนาแหล่ง มั่นใจว่าทางภาครัฐจะพิจารณาอย่างดีด้วย"นายไพโรจน์ กล่าว

ขณะที่นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกชนั้น ปตท.สผ. ยื่นประมูลเองทั้ง 100% หลังจากที่กลุ่มโททาลไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่ก็ไม่ปิดกั้นที่จะหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเติมในอนาคต เพราะตามกฎของการประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) สามารถหาผู้ร่วมทุนได้เพิ่มเติมภายหลัง 1 ปีที่ได้รับสัญญาผลิต แต่เบื้องต้นมองว่าการเข้าลงทุนเพียงรายเดียวในแหล่งนี้มีความเสี่ยงไม่มากนัก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตเดิมที่ปตท.สผ. เป็น operator อยู่ และมีประสบการณ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน

ส่วนแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ. เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และมีการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี และยังมีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือร่วมลงทุนระหว่างกันในอนาคตด้วย เนื่องจากมีความสนใจพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมร่วมกันทั้งในเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง

ส่วนการที่ไม่ร่วมประมูลกับกลุ่มเชฟรอนในแหล่งเอราวัณนั้น เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จากปัจจุบันที่ปตท.สผ. ถือหุ้นในแหล่งดังกล่าวเพียง 5% โดยมีกลุ่มเชฟรอนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็น operator ในแหล่งเอราวัณอยู่ในปัจจุบัน

"เราเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้เรายื่นข้อเสนอในการประมูลที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว" นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า สำหรับการประมูลที่เปิดเงื่อนไขให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% ในแต่ละแหล่งนั้น ในฐานะที่ปตท.สผ.ก็นับว่าเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ทำให้มีโอกาสที่น่าจะได้รับการพิจารณาเข้าถือสัดส่วนดังกล่าวด้วยเช่นกัน

"เรามีความมั่นใจ เราได้ยื่นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สูงสุด ทั้งทางด้านเทคนิคก็มีความต่อเนื่อง ในรูปตัวเงินเราก็ได้ใส่ตัวเลขตามพารามิเตอร์ที่กำหนดเราได้ใส่แข่งขันมากแล้ว นอกจากนี้รัฐก็ได้ประโยชน์นอกจากรูปภาษีอย่างเดียว รัฐก็จะได้ผลตอบแทนจากการที่รัฐถือหุ้นในกลุ่มปตท.ด้วย ข้อเสนอเราเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะเป็นฐานการดำเนินงานของเราต่อที่จะขยายฐานต่อไปในอนาคต"นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวว่า ปตท.สผ.มีความพร้อมทั้งด้านการเงิน เนื่องจากมีเงินสดมากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังมีศักยภาพในการกู้อีก เรื่องจากมีหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.2 เท่า ซึ่งแม้จะได้รับคัดเลือกเป็นผู้ชนะครั้งนี้ก็ยังมีศักยภาพที่จะลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆได้เพิ่มเติมอีก

อนึ่ง แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็น 60% ของปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยแหล่งผลิตทั้ง 2 จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ