นายกฯชูโมเดล BCG ผลักดันศก.ชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว สู่เป้าหมายพัฒนายั่งยืนสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมดึงสตาร์ทอัพเสริมทัพ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 29, 2018 11:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อคืนนี้ว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า "BCG" โดย B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งการนำแนวคิดเศรษฐกิจทั้ง 3 มาหลอมรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีหลักคิด 3 ประการ คือ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) , เศรษฐกิจ BCG จะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเศรษฐกิจ BCG เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ต้องการร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ และดูแลโลกในทุกมิติ

สำหรับเศรษฐกิจชีวภาพ นับเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งจากภายในหรือศักยภาพที่มีอยู่แล้ว ประกอบด้วย ความหลากหลายทางชีวภาพ และการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของโลก ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร โดยเน้นสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นข้าวที่มีมูลค่าสูง ที่ได้รับการพัฒนาให้มีลักษณะดีด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สารสกัดจากพืชสมุนไพร เพื่อเป็นเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม ซึ่งเพิ่มคุณค่าให้กับสมุนไพรไทยหลายเท่าตัว การผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่งของประเทศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ปีละนับแสนล้านบาท จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่การขายเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นการขายสินค้าแปรรูป โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ดังนั้น ถือได้ว่าเศรษฐกิจชีวภาพเป็นกลไกสำคัญ ในการส่งเสริมการกระจายรายได้ และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการลดของเสียลงให้น้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ (Zero waste) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต เพื่อลดการใช้น้ำ พลังงาน แต่เพิ่มการใช้เทคโนโลยีสะอาดมากขึ้น อีกทั้งให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดของเสีย และ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ กระบวนการผลิต การเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาแปรสภาพ เพื่อกลับมาใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ได้

สำหรับเศรษฐกิจสีเขียวนั้น เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้ามาแก้ปัญหาโลกในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับความเสียสมดุล อันเป็นผลกระทบมาจากอดีต จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และนำไปสู่ความต้องการอุปโภค-บริโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งด้านอาหารและพลังงาน ความต้องการพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย อีกทั้งการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำให้ทรัพยากรลดจำนวนลงไปมาก บางส่วนเสื่อมโทรม มีการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เกินความสามารถของโลก ที่จะรองรับได้ ดังนั้น เศรษฐกิจที่พัฒนาด้วยการคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และความตระหนักถึงคุณค่า จึงเป็นเศรษฐกิจที่ทุกประเทศต้องนำไปเป็นแนวทางพัฒนาด้วย

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะดึงวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ เข้ามาช่วยในระบบบริหารและบริการของรัฐ โดยการจัดงานสตาร์ทอัพ แฟร์ (Government Procurement Transformation) ภายใต้แนวคิด "ปลดล็อคข้อจำกัด พัฒนาสตาร์ทอัพ สู่ตลาดภาครัฐ" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 29 กันยายนนี้ ณ ฮอลล์ 5-6 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเบิกทางสตาร์ทอัพสู่เส้นทางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งนับว่าเป็นตลาดใหญ่ของสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท (หรือร้อยละ 1 ของงบประมาณภาครัฐ) อีกทั้ง เป็นการสร้างมิติใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพทางนวัตกรรมของภาครัฐ ที่มุ่งยกระดับการให้บริการประชาชนในวันข้างหน้า ในยุคดิจิทัล อีกด้วย

สำหรับการที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้จัดทำดัชนีประสิทธิภาพระบบสุขภาพ (Health Care Efficiency Index) เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความคุ้มค่าด้านระบบดูแลสุขภาพ ซึ่งจะคำนวณเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายกับอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนในประเทศ โดยปี 2561 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก จาก 56 ประเทศ นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า เรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย มีความก้าวหน้าอย่างมากอีกด้วย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเห็นว่าเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยกว่า 48.8 ล้านคน (73.7%) จากจำนวนประชากรกว่า 66.2 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพที่ช่วยคุ้มครองดูแลสุขภาพในด้านการรักษาโรค ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาท รักษาทุกโรค) ยังคงมีความไม่สมบูรณ์ ในการขอรับบริการด้านสุขภาพหลายประการ ได้แก่ (1) รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ อาจจะสร้างความลำบากให้กับผู้ที่อยู่ไกลจากโรงพยาบาลรัฐมาก (2) ไม่คุ้มครองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน (3) ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ โดยให้เป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถ โดยมี พ.ร.บ. คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะต้องใช้สิทธิ พ.ร.บ. ให้ครบก่อน (4) ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นหากมีความจำเป็นจริง ๆ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ