(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติหลักการ พ.ร.บ.กำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อใช้กำกับดูแลผู้ให้บริการ-คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 10, 2018 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ....ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญจะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการส่งเสริม และกำกับดูแลการประกอบกิจการทางการเงิน รวมทั้งจะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

"เหตุที่ต้องออก พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินหลักๆ ของเรามีคนกำกับดูแลอยู่แล้ว แต่จะมีผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภท เช่น ลีสซิ่ง แฟคตอริ่ง หรือคาร์ฟอร์แคช ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานภาครัฐไปกำกับดูแลชัดเจน จึงใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในการกำกับดูแลอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลอย่างเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ จึงมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น" นายณัฐพรกล่าว

สำหรับผู้ที่จะถูกกำกับดูแลตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ เช่น พิโกไฟแนนซ์, สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ เช่น ลีสซิ่ง, แฟคตอริ่ง ซึ่งผู้ให้บริการดังกล่าวนี้จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เริ่มประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ยังได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มาขึ้นทะเบียน โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ หรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดจะต้องมีโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท รวมทั้งมีโทษทางอาญาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"สิ่งที่สำนักงานฯ จะเข้ามากำกับดูแล เช่น กลไกการกำหนดค่าธรรมเนียม วิธีการคิดดอกเบี้ย และวิธีการทวงหนี้ ซึ่งช่วงแรกจะขอให้มาขึ้นทะเบียนไว้ก่อน จะได้รู้บ้างว่าใครเป็นผู้ให้บริการเหล่านี้ เพื่อจะได้ควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคได้ หลังจากนั้นจะมีการพิจารณากฎระเบียบต่างๆ ว่าควรจะต้องควบคุมดูแลด้านใดบ้าง" นายณัฐพรระบุ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางการเงินบางประเภทซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแต่ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลอย่างชัดเจน ทำให้การประกอบธุรกิจขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและเป็นธรรม ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินดังกล่าว

ในระยะเริ่มแรกจะมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินรวม 5 ประเภท ได้แก่

(1) ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทให้สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากสำนักงาน

(2) ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อ การให้เช่า แบบลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง เป็นทางค้าปกติ โดยผู้ให้บริการกลุ่มนี้จะต้องขึ้นทะเบียนในการประกอบธุรกิจกับสำนักงาน

อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการทางการเงินข้างต้น ไม่รวมถึงการให้บริการทางการเงินข้างต้นที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ให้บริการทางการเงินแก่บริษัทในเครือเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาจประกาศกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งมีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้วไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้ก็ได้เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล และในอนาคตหากมีความจำเป็นก็สามารถเพิ่มประเภทของผู้ให้บริการทางเงินอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในกำกับดูแลของร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติม

โดยการออกกฎหมายดังกล่าว กระทรวงการคลังมุ่งเน้นการกำกับดูแลด้านการให้บริการให้มีมาตรฐานและมีการปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินดังกล่าว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินทั้ง 5 ประเภทได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินประเภทต่างๆ อย่างเพียงพอเพื่อช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึงและเป็นธรรมของประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ประกอบด้วยบทบัญญัติ 3 หมวด 74 มาตรา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการ การกำกับจะดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

https://youtu.be/Hmq07etsp7o


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ