บอร์ด ขสมก.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู คาดใช้เวลา 3 ปีดัน EBITDA เป็นบวก, ใช้งบกว่า 1 หมื่นลบ.จัดหารถพร้อมเดินหน้าซื้อรถไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 12, 2018 08:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.61) ได้มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการขสมก. จากนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม ถ้าเห็นชอบก็เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอุนุมัติได้ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ในต้นปี 62 จนถึงต้นปี 65 หรือใช้ระยะเวลา 3 ปี ที่จะกลับมาทำให้กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวก

ทั้งนี้ แผนการจัดหารถโดยสารคาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดย 1) จัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ซึ่งขณะนี้รับมอบแล้ว 100 คันส่วนที่เหลือ 389 คันยังรับไม่ได้รับมอบเพราะต้องรอศาลปกครองกลางพิจารณาคดีก่อน 2) ปรับปรุงสภาพรถโดยสาร NGV (เดิม) จำนวน 323 คัน 3) จัดซื้อรถไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) จำนวน 35 คัน ซึ่งกำลังพิจารราร่างเงื่อนไขประกวดราคา(TOR) 4) จัดซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 1,453 คัน และ5) เช่ารถโดยสารใหม่ จำนวน 700 คัน (เช่ารถไฮบริด 400 คัน, เช่ารถ NGV 300 คัน)

อีกทั้ง การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ได้แก่ การติดตั้งและใช้งานในระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์บนรถโดยสาร (E-Ticket, ระบบบริหารงานหลักองค์กร (Enterprise Resource Planning : ERP), การติดตั้งระบบตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติการเดินรถ (GPS) บนรถโดยสาร, การติดตั้ง WIFI, ป้ายอัจฉริยะ, การออกบัตรร่วม และ เพิ่มช่องทางการชำระค่าโดยสารโดยนำระบบ QR-Code มาใช้

รวมทั้งการปรับปรุงเส้นทางเดินรถเพื่อลดการทับซ้อน เชื่อมต่อและรองรับกับระบบขนส่งสาธารณะระบบราง และมีเส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ

ขสมก.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะทำให้ ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระกับภาครัฐ และประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันแผนฟื้นฟูนี้จัดทำเพื่อให้ ขสมก. สามารถเลี้ยงตัวเองได้ลดภาระกับภาครัฐ มีการลดค่าใช้จ่ายด้านพนักงาน โดยปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดกระชับลง (LEAN) จากจำนวนพนักงานต่อรถ 1 คัน ในปี 2561 จำนวน 5.14 คน ลดลงเป็น 2.75 คนในปี 2565

รวมทั้งการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) โดยปี 2563 พนักงานสำนักงาน จำนวน 655 คน ปี 2564 พนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 2,198 คน ปี 2565 พนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 2,198 คน

และปรับเปลี่ยนหน้าที่พนักงานให้มีความเหมาะสม จำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสารที่เปลี่ยนหน้าที่เป็นพนักงาน จำนวน 448 คน ในปี 2563 รวมทั้งการจ้างพนักงานใหม่โดยเฉพาะพนักงานที่มีความรู้ทางระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารและค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง โดยมีอัตราค่าเหมาซ่อมของรถใหม่ลดลงร้อยละ 50 รวมทั้งเพิ่มรายได้ โดยขอปรับอัตราค่าโดยสารเฉพาะรถโดยสารใหม่, ขอรับการสนับสนุนการให้บริการสาธารณะ (PSO),จัดรถโดยสารใหม่ออกวิ่งให้บริการเต็มประสิทธิภาพ, การจัดเก็บค่าตอบแทนค้างชำระของรถเอกชนร่วมบริการ และพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจในอู่บางเขนและอู่มีนบุรี ส่วนการบริหารหนี้สินโดยขอให้ภาครัฐรับภาระหนี้ทั้งหมด ซึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ