ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาฯ คาดวงการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยปีนี้จำนวน-มูลค่าสูงเตือนเกิดภาวะฟองสบู่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2018 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่า โครงการที่อยู่อาศัยในปี 61 น่าจะเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ โดยใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเทียบกับปี 60 มีจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดใหม่รวม 319 โครงการ (ลดลง -1%) มีจำนวนหน่วยขายรวม 86,694 หน่วย (ลดลงประมาณ -3%) แต่มีมูลค่าโครงการรวม 386,706 ล้านบาท (เพิ่ม 17%) และมีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มจาก 3.667 ล้านบาทเป็น 4.461 ล้านบาท (22%) โดยกลุ่มที่อยู่อาศัยที่เปิดขายมากสุด คืออาคารชุดจำนวน 52,277 หน่วย (60%) รองลงมา คือ ทาวน์เฮ้าส์ 21,100 หน่วย (24%) และอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยว 8,587 หน่วย (10%)

และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย พบว่ามีโครงการเปิดใหม่ 302 แห่ง รวมมูลค่า 84,455 หน่วย รวมมูลค่า 372,462 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 4.41 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากคาดการณ์จากการเปิดตัวในช่วง 9 เดือนแรก โดยใช้ค่าเฉลี่ยของแต่ละเดือนจะพบว่า ปีนี้น่าจะมีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ 403 แห่ง (ลด 2%) จำนวนหน่วย 112,607 หน่วย (ลด 2% เช่นกัน) แต่มูลค่าการพัฒนากลับเพิ่มเป็น 496,616 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึง 12% ส่วนราคาเป็น 4.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 14%

และหากพิจารณาเพิ่มเติมว่าจำนวนที่สำรวจรายเดือนนี้ยังอาจน้อยกว่าที่ควรมีจริงราว 5% และจำนวนหน่วยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจลดลงกว่าค่าเฉลี่ย 5% แต่มูลค่าเฉลี่ยต่อหน่วยไม่ได้ลดลง ก็จะคาดการณ์ได้ว่า จำนวนหน่วยอาจเพิ่มเป็น 116,759 (เพิ่มขึ้น 2%) มูลค่าจะกลายเป็น 521,447 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 18% ส่วนราคาขายเป็น 4.466 ล้านบาท

นายโสภณ กล่าวว่า การที่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 18% นี้จึงถือเป็น "ฟองสบู่" อย่างชัดเจน ตลอดช่วง 24 ปีที่สำรวจมานั้น ปี 61 นี้จะเป็นปีที่มูลค่าการพัฒนาสูงที่สุด แต่จำนวนหน่วยไม่มากนัก เพราะขณะนี้เน้นของที่มีราคาสูง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ 20% ของหน่วยขาย ๆ ให้กับนักเก็งกำไรทั้งระยะสั้นและระยะยาว (นักลงทุน) และอีกราว 20% ขายให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะจีน

"การเกิดภาวะ "ฟองสบู่" ในกลุ่มสินค้าราคาสูงนั้น มีความเสี่ยงมาก หากไม่มีการโอน ก็อาจทำให้กระแสเงินสดของโครงการสะดุดได้ สถาบันการเงินและนักพัฒนาที่ดินจึงพึงติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิดและให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ"นายโสภณ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ