กสทช. ศึกษาการบริหารคลื่นความถี่กับรถไฟฟ้าความเร็วสูงในญี่ปุ่น ยันจัดสรรคลื่น 900 MHzรองรับระบบรางในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2018 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาดูงานระบบรถไฟความเร็วสูงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พบว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 400 MHz กับการใช้งานในระบบราง ในระบบอาณัติสัญญาณเพื่อสั่งการการเดินรถ รวมใช้คลื่นความถี่จำนวนทั้งสิ้น 650 กิโลเฮิรตซ์ (kHz (1000 กิโลเฮิรตซ์ = 1 เมกะเฮิรตซ์ )

ขณะที่ในแต่ละวัน มีผู้ใช้บริการ JR pass (ตั๋วรถไฟแบบเหมาจ่ายสำหรับการเดินทางรวมรถไฟทุกระบบ ทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง และชินคันเซ็น) จำนวนทั้งสิ้น 17.5 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นใช้จำนวนคลื่นความถี่น้อยมาก แต่มีประสิทธิภาพการใช้งานสูง

"ถือเป็นการใช้คลื่นความถี่ในปริมาณที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นซึ่งใช้กับระบบรางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง ระบบรถไฟชินคันเซ็น" นายก่อกิจกล่าว
สำหรับประเทศไทย นายก่อกิจ กล่าวว่า กสทช.ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับกระทรวงคมนาคมเพื่อใช้ในกิจการระบบราง ถือเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่จำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานของญี่ปุ่น ทั้งนี้ มองว่าการจัดสรรดังกล่าวที่ครอบคลุมเส้นทางเดินรถไฟไทย-จีน อนาคตสามารถนำมาใช้งานกับระบบรถไฟเส้นอื่นๆ ที่ประเทศไทยกำลังขยายได้ด้วย ทั้งรถไฟธรรมดา รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางเดียว และระบบรถไฟฟ้าในเมือง เป็นต้น หากมีการบริหารจัดการช่องสัญญาณที่ดีพอ
"ในส่วนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ได้จัดสรรให้กระทรวงคมนาคมไปแล้วนั้น มองว่าอนาคตสามารถรองรับการใช้งานกับระบบรถไฟได้ทุกเส้น อยู่ที่การบริหารจัดการช่องสัญญาณ ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางเดียวก็สามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ได้ทั้งสิ้น"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ