พาณิชย์ มั่นใจส่งออกข้าวปีนี้เป็นตามเป้า หลังล่าสุดอยู่ที่ 8.9 ล้านตัน แนวโน้มช่วงที่เหลือสดใสตามความต้องการตลาดตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 24, 2018 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2561 จะบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ปริมาณ 11 ล้านตัน อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 ตุลาคม 2561 ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 8.932 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.71% คิดเป็นมูลค่า 4,606 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 21.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือประมาณ 147,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของก่อน 13.56% โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เบนิน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, จีน และแอฟริกาใต้

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดผู้นำเข้าข้าวต่างประเทศมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2561 ยังคงไปได้ดี โดยล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศได้ส่งมอบข้าวให้ COFCO รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้สัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ในงวดที่ 6 เป็นชนิดข้าวขาว 5% ปริมาณ 100,000 ตัน มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จภายในกลางเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะเร่งรัดเจรจากับ COFCO เพื่อส่งมอบข้าวงวดที่ 7 อีก 100,000 ตันโดยเร็ว

นอกจากการส่งมอบข้าวให้ COFCO แล้ว ยังมีคำสั่งซื้อข้าวจากการเปิดประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น โดยในปีนี้ฟิลิปปินส์ จะเปิดประมูลนำเข้าข้าวเป็นการทั่วไปรวม 3 ครั้ง ครั้งละ 250,000 ตัน ปริมาณรวม 750,000 ตัน เริ่มเปิดประมูลครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 กำหนดส่งมอบภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะเปิดประมูลอีก 2 ครั้ง ในวันที่ 8 และ 22 พฤศจิกายน 2561 จนครบ 750,000 ตัน โดยในการประมูล 2 ครั้งหลังมีกำหนดส่งมอบข้าวภายในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งผลการประมูลครั้งแรกปรากฏว่า ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวได้ไม่ครบ 250,000 ตัน โดยมีผู้ชนะการประมูลเพียง 2 ประเทศ ปริมาณรวม 47,000 ตัน คือ จากไทย 18,000 ตัน และเวียดนาม 29,000 ตัน จึงจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปอีกครั้ง เพื่อนำเข้าข้าวให้ครบตามปริมาณที่กำหนด

สำหรับญี่ปุ่น ได้เปิดประมูลนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2561 และได้ตกลงซื้อข้าวจากไทยปริมาณรวมกว่า 87,000 ตัน คิดเป็น 60% ของปริมาณรับซื้อข้าวทั้งหมด อีกทั้งตลาดข้าวไทยในภูมิภาคอื่นๆ ยังมีการสั่งซื้อข้าวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อสถานการณ์ตลาดข้าวของไทย และราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรชาวนาจะได้รับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อข้าวปริมาณมากอย่างต่อเนื่องมารองรับผลผลิตข้าวฤดูนาปีที่กำลังออกสู่ตลาด ทำให้ระดับราคาข้าวไทยให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น

นายอดุลย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประกวดข้าวดีเด่นของโลก (The World’s Best Rice Award) ที่ปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยได้ลำดับที่ 3 ส่วนข้าวอังกอร์ของกัมพูชาและข้าวหอมเวียดนามได้ลำดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับนั้น การประกวดดังกล่าวจัดโดยนิตยสาร The Rice Trader องค์กรเอกชนที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุตสากรรมข้าว ซึ่งใช้วิธีการตัดสินโดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและพ่อครัวที่มีชื่อจากสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ เป็นกรรมการ และใช้เกณฑ์การตัดสิน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่น, รสชาติ, ความเหนียวนุ่ม และรูปร่าง ดังนั้น การตัดสินจึงขึ้นอยู่กับรสนิยมของกรรมการเป็นหลักด้วย ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงด้านคุณภาพที่แท้จริง

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิไทยสามารถครองแชมป์ข้าวดีเด่นโลกได้มากที่สุดในโลกรวมกันถึง 5 สมัย จากการประกวดทั้งหมด 10 ครั้ง จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยยังเป็นที่นิยมและต้องการในตลาดโลก จะเห็นได้จากที่ผ่านมาราคาข้าวหอมมะลิไทยปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการซื้อแต่ปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิไทยปีการผลิต 60/61 มีค่อนข้างจำกัด

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นรักษาคุณภาพและดูแลมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยอย่างเข้มงวดต่อไป รวมทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวคุณลักษณะพิเศษชนิดใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังข์หยด และข้าว กข43 ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดโลก เพื่อสร้างโอกาสและตลาดใหม่ๆ ให้กับข้าวไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ