กรมศุลฯ เผยบริการส่งสินค้าด่วนปี 61 โตพุ่ง 55% เก็บภาษีได้กว่าพันลบ. จาก e-Commerce ที่ขยายตัวก้าวกระโดด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 26, 2018 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 18 ต.ค.61 ของคณะทำงาน e-Commerce ระบุว่า ความก้าวหน้าของคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มีดังนี้

1.ปริมาณการนำเข้าสินค้า e-Commerce ผ่านการปฏิบัติพิธีการศุลกากรแบบของเร่งด่วน ณ สำนักงานตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สืบเนื่องจากปริมาณการค้าแบบ Online เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้า e-Commerce แบบของเร่งด่วนทางสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ของที่มีราคา FOB ไม่เกิน 40,000 บาท/รายการ และนำเข้าโดยผู้ประกอบการของเร่งด่วนตามมาตรฐานของกรมศุลกากรเท่านั้น เช่น DHL, FEDEX, TNT, UPS, Kerry Express, Lazada และ LMS เป็นต้น (ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 130/2561) ตลอดปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีปริมาณการนำเข้าเป็นจำนวน 11.98 ล้านหีบห่อ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ถึง 54.54% มูลค่าการนำเข้า 14,348 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในอัตรา 34.71% และจัดเก็บภาษีอากรได้ 1,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในอัตรา 28.86%

2.ความก้าวหน้าของคณะทำงาน e-Commerce คณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการการจัดทำระเบียบศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการทางศุลกากรและข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและเชื่อมโยงการค้าโลก มีกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการจนแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งต่อมา ได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกไปจนถึงเดือน มีนาคม พ.ศ. 2562 มีความคืบหน้า ดังนี้

กรมศุลกากรเห็นชอบในร่างหลักการของร่างประกาศศุลกากรเพื่อรองรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้ว เมื่อวันที่ 5 ต.ค.61 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกลั่นกรองทางด้านข้อกฎหมาย โดยสำนักกฎหมาย ทั้งนี้ พิธีการศุลกากรสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cross Border e-Commerce Model) มีรูปแบบและสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรที่น่าสนใจ ดังนี้

1. รองรับการนำเข้าทุกรูปแบบ ทั้งทางอากาศยาน เรือ รถ และรถไฟ (Multimodal Transportations) และควบคุมการขนย้ายสินค้าจากท่าที่นำเข้าไปยังเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC โดยเทคโนโลยีระบบอี-ล็อค (e-Lock) เพื่อป้องกันการสูญหายของสินค้าระหว่างการขนย้าย

2. การปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่เรียบง่าย การนำเข้าสินค้าเข้าเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC จะได้รับอนุญาตให้จัดทำใบขนสินค้าแบบเรียบง่าย หรือ Simplified Declaration เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากในการจัดทำใบขนสินค้าทั่วไป

3. การนำเข้าสินค้าเข้าเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC จะได้รับยกเว้นใบอนุญาตในการนำเข้า

4. การควบคุมระบบบัญชีสินค้า เข้า-ออก เขตปลอดอากรพื้นที่ EEC ด้วยเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด (QR Code)

5. สินค้าทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจสอบด้วยระบบเอ็กซเรย์ที่ได้มาตรฐาน

6. มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร

7. มีระบบรักษาความปลอดภัยในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC ด้วยกล้องวงจรปิด ตลอด 24 ชั่วโมง

8. ได้สิทธิในการเก็บรักษาสินค้าในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC เป็นระยะเวลา 2 ปี

9. รองรับการนำสินค้าในประเทศเข้าเก็บในเขตปลอดอากรพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ มาตรฐานของการให้บริการทางศุลกากรสำหรับ e-Commerce รูปแบบใหม่นี้ จะเป็นไปตามหลักการอำนวยความสะดวกทางการค้าและมาตรฐานสากล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ