(เพิ่มเติม) "ดีแทค ไตรเน็ต" ประมูลคว้าคลื่น 900 MHz ตามคาดหลังเคาะราคา 38,064 ล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 28, 2018 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) จัดโดย สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 5 MHz เป็นไปตามคาดหมาย โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) เป็นผู้ประมูลได้หลังเคาะราคาเพียงครั้งเดียวด้วยราคา 38,064 ล้านบาท ส่งผลให้ DTN มีคลื่นความถี่ทุกย่านรวมกันเป็น 110 MHz

นายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า บริษัท DTN เป็นผู้ชนะการประมูลเมื่อเวลา 10.40 น. โดยหลังจาก กสทช.รับรองผลการประมูลดังกล่าวแล้ว DTN จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตครั้งแรกจำนวน 4,020 ล้านบาท และ กสทช.จะยังคงเดิมหน้าประมูลคลื่นความถี่ต่อไปในปี 2562 โดยจะเริ่มจากคลื่น 1800 MHz ที่เหลือ และคลื่น 2600 MHz เพราะตราบใดที่ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมยังให้บริการอยู่ กสทช.จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ต่อไป

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า DTN บริษัทย่อยในกลุ่มบริษัทดีแทค ได้เป็นผู้ถือครองใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ขนาด 2x5 MHz จากการประมูลในราคา 38,064 ล้านบาท โดยได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่น 15 ปี จนถึง พ.ศ.2576 ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้ประกาศผลการประมูลให้ DTN เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz อย่างเป็นทางการ

"วันนี้คือก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาเพื่อให้บริการกับลูกค้าของเรา โดยคลื่นย่านความถี่ต่ำจะช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ใช่แค่เพียงในเมือง แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพเพื่อลูกค้าดีแทคทุกที่ทั่วประเทศโดยเฉพาะการให้บริการครอบคุลมพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล" นางอเล็กซานดรา ไรช์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า จากการที่ดีแทคได้คลื่นใหม่ 900 MHz ในการประมูลล่าสุดส่งผลให้ดีแทคมีบริการคลื่นความถี่ที่ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ (Low-band spectrum) และคลื่นย่านความถี่สูง (High-band spectrum) จากการถือครองใบอนุญาต 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz และให้บริการโรมมิ่งบนคลื่น 2300 MHz ของทีโอทีที่ DTAC เป็นพันธมิตร ทำให้ดีแทคมีแถบคลื่นความถี่ที่ให้บริการกับลูกค้าทั้งหมดกว้างถึง 110 MHz ทั้งนี้ DTAC จะนำคลื่นใหม่ 900 MHz มาให้บริการแทนคลื่น 850 MHz อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศหลังสิ้นสุดแผนคุ้มครองลูกค้าเดือนธันวาคม

"การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้ลูกค้าใช้งานหลังสิ้นสุดระยะเวลาคำสั่งของศาลปกครองกลางที่คุ้มครองการใช้งานของลูกค้าดีแทคบนคลื่นความถี่ 850 MHz จากที่กำหนดให้ใช้งานหลังสิ้นสุดสัมปทานได้ถึง 15 ธันวาคมนี้" นางอเล็กซานดรา ไรช์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวว่า ภายใต้หลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ของ กสทช. ที่ให้ผู้ชนะประมูลสามารถใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz แทนคลื่น 900 MHz ต่อไปได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ขณะนี้ลูกค้า DTAC จึงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป โดยสามารถใช้งานมือถือได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะลูกค้าที่ใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ