พาณิชย์ เผย FTA อาเซียน-จีน ดันยอดการค้าไทย-จีนครึ่งแรกปี 61 ขยายตัว 13%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน หรือ ACFTA มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค.46 โดยต่างได้ทยอยลดภาษีศุลกากรระหว่างกันมาตามลำดับ จนครบสินค้าล็อตสุดท้ายที่ต้องมีการลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0-5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 พบว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน ในช่วงครึ่งแรกของปี 61 (ม.ค.-มิ.ย.) อยู่ที่ 39,395.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปจีน 14,935 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 24,460.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกรณีส่งออกเป็นการใช้สิทธิภายใต้ FTA อาเซียน-จีน 8,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 57.7% ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่กรณีนำเข้าเป็นการใช้สิทธิ FTA อาเซียน-จีน 6,321.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 25.8% ของมูลค่าการนำเข้ารวม

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประเมินสถิติการนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทยกับจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 61 เฉพาะในส่วนสินค้าล๊อตสุดท้ายที่มีการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันเหลือ 0-5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 จะพบว่าไทยสามารถส่งออกสินค้าไปจีนได้เป็นมูลค่ารวม 577.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.9% โดยสินค้าที่ได้ประโยชน์ เช่น กระปุกเกียร์สำหรับ ยานยนต์ ปลายข้าว กระดาษพิมพ์ แผ่นชิ้นไม้อัด เคมีภัณฑ์ แป้งข้าวเจ้า เป็นต้น

ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มสุดท้ายที่ได้ลดภาษีให้จีนเหลือ 0-5% มากขึ้นเช่นกัน เป็นมูลค่า 2,483.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 23.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงไฟ สายเคเบิ้ล ทองแดง หม้อแปลงไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าสำเร็จรูปทั้งใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มยอดส่งออกของไทยในภาพรวม

"แม้จะเกิดวิกฤติทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่จากสถิติพบว่าไทยยังคงขยายการส่งออกในภาพรวมไปจีนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกของไทยคงต้องติดตามสถานการณ์การค้าโลกที่เกิดขึ้น และวางแผนการทำธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในจีนต่อไป เช่น ขยายการส่งออกในสินค้าที่จีนมีความต้องการเพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เจาะตลาดเข้าสู่เมืองใหม่ๆ ของจีนที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับสินค้าไทย เช่น มณฑลทางฝั่งตะวันตกของจีน และขยายการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซในร้านออนไลน์ที่มีชื่อของจีน เป็นต้น"นางอรมน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ