สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 11 รายการ พร้อมกับอีก 14 ประเทศ มีผล 1 พ.ย.61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.61 รัฐบาลสหรัฐได้ออกประกาศผลการพิจารณาโครงการทบทวน GSP สหรัฐประจำปี 2560 (Annual GSP Product Review) โดยได้ตัดสิทธิ GSP สินค้าจาก 15 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนติน่า, เบลิซ, บอสเนีย, บราซิล, เอกวาดอร์, อียิปต์, ฟอล์กแลนด์, อินโดนีเซีย, คาซัคสถาน, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, สุรินัม, ตุรกี, อินเดีย และไทย ตามเกณฑ์ว่าด้วยความจำเป็นด้านการแข่งขัน (Competitive Need Limit: CNLs) ที่สหรัฐฯ กำหนด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมาในปี 60 สหรัฐฯ ได้ให้สิทธิ GSP แก่ไทยครอบคลุมสินค้ากว่า 3,400 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,150.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 69.98% สำหรับสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP รวมทั้งสิ้น 11 รายการ มีมูลค่าเท่ากับ 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 1.11% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ทั้งหมด ซึ่งสินค้าดังกล่าว ประกอบด้วย 1) ดอกกล้วยไม้สด 2) ทุเรียนสด 3) มะละกอตากแห้ง 4) มะขามตากแห้ง 5) ข้าวโพดปรุงแต่ง 6) ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม 7) มะละกอแปรรูป 8) แผ่นไม้ปูพื้น 9) เครื่องพิมพ์ 10) เครื่องซักผ้า 11) ขาตั้งกล้องถ่ายรูป

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กำหนดเกณฑ์การตัดสิทธิ GSP โดยพิจารณาจากเกณฑ์มูลค่าการนำเข้า เกิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่วนแบ่งตลาด เกิน 50% โดยสินค้า 10 รายการของไทย มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% และ อีก 1 รายการ คือ เครื่องซักผ้า มีมูลค่าการนำเข้าเกิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

นอกจากนี้ สำหรับสินค้าขาตั้งกล้องถ่ายรูป ฝ่ายไทยได้ตรวจสอบข้อมูลสถิตการค้าพบว่า ส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ มีเพียง 19.80% (ต่ำกว่าเกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด 50%) ซึ่งสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซีได้แจ้งไปยังสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (US Trade Representative) ขอให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับสินค้าที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ทั้ง 11 รายการ มีมูลค่าการใช้สิทธิปี 61 (มค.-ส.ค.) ประมาณ 28.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 14.3% และเมื่อถูกตัดสิทธิ GSP จะเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติประมาณ 1-8%

ทั้งนี้ ในการขอคืนสิทธิ GSP (Redesignation) รัฐบาลไทยสามารถยื่นคำร้องขอคืนสิทธิระหว่างการพิจารณาทบทวนรายการสินค้าประจำปี ในกรณีการนำเข้าสินค้านั้นของปีต่อไปจะต้องมีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ CNLs ที่กำหนด (185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี) และมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไม่เกิน 50% (สำหรับกรณีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% จะต้องเป็นสินค้าที่ไม่มีการผลิตในสหรัฐฯ และไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ)

นายอดุลย์ กล่าวว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีประเทศผู้ส่งออกสำคัญที่ถูกตัดสิทธิ GSP ในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ อินเดีย (50 รายการ) บราซิล (14 รายการ) เอกวาดอร์ (4 รายการ) อาร์เจนติน่า (3 รายการ) ฟิลิปปินส์ (3 รายการ) และอินโดนีเซีย (1 รายการ) ซึ่งสินค้าบางรายการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP จากประเทศเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและส่งออกไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง เช่น ปลาดาบแช่เย็นแช่แข็ง (เอกวาดอร์) พรมถักด้วยมือ (อินเดีย) ผักสดและผลไม้ปรุงแต่ง (อินเดีย) ฯลฯ

"ดังนั้น หากผู้ผลิตไทยสามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดสหรัฐฯ ทดแทนการนำเข้าจากประเทศที่ถูกตัดสิทธิ ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ไทยสามารถเปิดตลาดและขยายการส่งออกสินค้าประเภทใหม่ๆ ไปยังตลาดสหรัฐฯได้" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ