KTB แนะมนุษย์เงินเดือนเร่งปรับตัวเสริมศักยภาพ-เพิ่มการออมเพื่ออยู่รอดในยุค Automation และ Technology 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2018 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวในงาน Press Briefing ในหัวข้อ "อนาคตมนุษย์เงินเดือน ในยุค Automation และ Technology 4.0" ว่า ระบบ Automation จะส่งผลต่อการการปรับตัวของมนุษย์เงินเดือนชาว Millennials โดยการนำ Automation หรือเทคโนโลยีมาทำให้งานเป็นอัตโนมัติมากขึ้น จะมีผลกระทบต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานบางประเภท โดยเฉพาะงานประจำ (routine) และจะมีผลต่อการเติบโตของรายได้และภาวะความเป็นอยู่ในอนาคต

โดยผลสำรวจของ World Economic Forum ในปี 61 พบว่า 50% ของบริษัทในกลุ่มตัวอย่างจากหลายประเทศทั่วโลก คาดว่า Automation จะกระทบการจ้างงานแบบเต็มเวลาภายในปี 65 ซึ่งขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยต่างก็มีแผนจะนำ Automation มาใช้งานเพิ่มมากขึ้น แม้ไม่มีการลดจำนวนพนักงานลงด้วยการเลิกจ้าง แต่ก็ต้องเตรียมปรับโครงสร้างองค์กร

"เรื่องนี้สำคัญสำหรับชาว Millennials หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 23-40 เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยทำงาน และต้องอยู่ในตลาดแรงงานในช่วง 20 กว่าปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะมีการนำ Automation มาใช้แพร่หลายมากขึ้น โดยเทคโนโลยี Automation ใหม่ๆ สามารถทำงานแทนพนักงานในออฟฟิศ หรือ White-collar jobs หลายอย่างได้มากขึ้น รวมทั้งงานที่มีค่าจ้างสูงๆ ด้วย"นายพชรพจน์ กล่าว

โดยหากชาว Millennials ยังทำงาน routine เหมือนเดิม อัตราการเติบโตของรายได้จะน้อยลงตามความต้องการทักษะดังกล่าวที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเงินออมในช่วงวัยทำงาน และสุดท้าย เงินออมสำหรับใช้ในช่วงหลังเกษียณอาจน้อยกว่าที่คาด ทำให้ต้องทบทวนว่าจะทำงานเดิมต่อไป หรือเรียนต่อ เพื่อเปลี่ยนมาทำงานในลักษณะที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์หรืองานเชิงบริหาร ซึ่งเป็นงานที่ทำให้เป็นอัตโนมัติได้ยากกว่า

ด้านนายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า สำหรับชาว Millennials การเติบโตของรายได้ที่ลดลง 1% อาจต้องทดแทนด้วยการออมที่เพิ่มขึ้นถึง 4% ของรายได้ เพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณเท่าเดิม ในบางกรณีหาก Automation ทำให้รายได้เราโตเท่าอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น อาจต้องออมถึง 35% ของรายได้ จากเดิมที่ออมเพียง 25% ของรายได้ แต่การออมมากขนาดนั้นก็ทำได้ไม่ง่ายนักในตลาดแรงงานยุคใหม่ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็น

ทั้งนี้ หากกังวลว่าการเติบโตของรายได้จะถูกกระทบจาก Automation การศึกษาเพิ่มเติมเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าพิจารณา เนื่องจากช่วยให้สามารถทำงานประเภทใหม่ที่ถูกทำให้เป็นอัตโนมัติได้ยาก ทำให้มีรายได้และอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงกว่าเดิม แม้จะมีต้นทุนจากการเรียนต่อ แต่ก็สามารถคืนทุนในเวลาไม่กี่ปี

อย่างไรก็ดี การเรียนต่ออาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายสำหรับทุกคน ทำให้การปรับตัวด้านการออมและการลงทุนจึงจำเป็น ซึ่งนอกจากการปรับเพิ่มอัตราการออมแล้ว ควรพิจารณาผลิตภัณฑ์ประกันประเภทต่างๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดในอนาคต และควรพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนในตราสารทุน และกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดี และควรทำแต่เนิ่นๆ เพื่อจะช่วยให้มีเงินพอใช้จ่ายในวัยเกษียณตามที่ตั้งใจไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ