พาณิชย์ เตือนผู้นำเข้ารถยนต์-จยย.ใช้แล้วต้องได้รับอนุญาตก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก-ปรับ-ริบสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2018 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ขอย้ำว่าการนำสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์หรือไม่ หากเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมฯ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จก่อนการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ สินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2496 ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าจะต้องดำเนินการขออนุญาตก่อนที่จะนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้เน้นย้ำกับผู้ประกอบการมาโดยตลอด แต่ก็ยังพบว่า สินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ใช้แล้วยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการนำเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนได้รับใบอนุญาตมากที่สุด ส่งผลให้ผู้นำเข้ามีความผิด "ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับกับให้ริบสินค้า" ตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

สำหรับสินค้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ใช้แล้วผู้ประสงค์ที่จะนำเข้าจะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2549 และระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการอนุญาตให้นำรถจักรยานยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2539 ซึ่งกำหนดกรณีที่จะสามารถขออนุญาตนำเข้าได้ มี 6 กรณี ดังนี้ (1) การนำเข้าเพื่อใช้เฉพาะตัว (2) การนำเข้าที่ได้รับการยกเว้นหรือชดเชยภาษี (3) การนำเข้าโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การสาธารณกุศล (4) การนำเข้าเป็นการชั่วคราว (5) การนำเข้าเพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตหรือการศึกษาวิจัย และ (6) การนำเข้าเพื่อใช้ในกิจการของตน (เฉพาะรถลักษณะพิเศษที่ใช้แล้ว อาทิ รถหัวลาก รถเครน) ซึ่งหากเป็นกรณีอื่นหรือผู้นำเข้าไม่มีคุณสมบัติตามระเบียบที่กำหนดแล้วจะไม่สามารถขออนุญาตนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ