พลังงาน ชู 3 แผนดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ ใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า-เพิ่มผสมในดีเซล-หนุนใช้ B20 หวังดันราคาผลปาล์มเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2018 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) หวังช่วยผลักดันให้ราคาผลปาล์มขยับตัวขึ้นจาก 3 บาท/กิโลกรัม เป็น 3.50 บาท/กิโลกรัมในอนาคต โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการแรก การนำน้ำมันปาล์มดิบ ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าราชบุรี จำนวน 1.6 แสนตัน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างปรับปรุงโรงไฟฟ้าเพื่อให้สามารถใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ จากปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และสามารถใช้น้ำมันดีเซลได้ในกรณีจำเป็น

อย่างไรก็ตามการนำน้ำมันปาล์มมาใช้ในโรงไฟฟ้าจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น 20-30 สตางค์/หน่วย แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลจะต้องนำเงินมาชดเชยประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการใช้งบกลางของรัฐบาลชดเชย 500 ล้านบาท และการหักกลบจากค่าสายส่งสายจำหน่ายอีก 500 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ กฟผ.จะเป็นผู้รับภาระ

มาตรการที่ 2 จะเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซล ในสัดส่วน 7% (B7) โดยได้กำหนดขั้นต่ำการผสมในระดับ 6.8% จากเดิมที่มีการผสมอยู่ในช่วง 6.5-7% หรือเฉลี่ย 6.6% และจะเพิ่มเป็น 6.9% ในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้ 8 หมื่นตัน/ปี โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติการดำเนินการตามมาตรการนี้ ในขั้นต้นจะบังคับใช้มาตรการเพิ่มสัดส่วนเป็น 6.8% ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.61 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ผลิตไบโอดีเซลและผู้ค้าน้ำมันจะร่วมกันซื้อน้ำมันปาล์มดิบ เริ่มซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 หมื่นตัน

มาตรการที่ 3 การสนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซล B20 ซึ่งล่าสุดได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)และบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เพื่อทดลองใช้ดีเซล B20 ในรถโดยสารเป็นเวลา 1 เดือน มีแผนการใช้ดีเซล B20 ในปริมาณ 7 ล้านลิตร/เดือน ซึ่งจะทำให้การใช้ดีเซลB20 โดยรวมในเดือนธ.ค.61 รวมเป็น 20 ล้านลิตร/เดือน อย่างไรก็ตามได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบในส่วนนี้ให้ได้ 6 แสนตัน/ปี ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จากเป้าหมายรวม 15 ล้านตัน/วันในอนาคต

ทั้งนี้ ตามแผนงานช่วยดูดซับการผลิตน้ำมันปาลม์ดิบ ในประเทศด้วยการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลในสัดส่วนสูงที่สุดนี้ จะสามารถใช้น้ำมันปาลม์ดิบ ในน้ำมันดีเซลได้ 1.3 ล้านตัน/ปี และในน้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้นอีก 6 แสนตัน/ปี รวมเป็น 1.9 ล้านตัน/ปี จากปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศประมาณ 2.5 ล้านตัน/ปี

นายศิริ กล่าวว่า ปัจจุบันสต็อกปาล์มดิบมีอยู่ 3.7 แสนตัน/ปี จากควรปกติควรอยู่ 2.5 แสนตัน/ปี จึงเป็นปัญหาล้นตลาด ดังนั้น ทั้ง 3 มาตรการของพลังงานเบื้องต้นจะช่วยให้เกิดการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินที่ล้นตลาดได้หมด และทำให้น้ำมันปาล์มดิบอยู่ระดับเหมาะสม 2.5 แสนตัน/ปีได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ