ครม.เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์สำหรับ Smart Visa

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2018 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณะกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการตรวจลงตราประทับคนอยู่ชั่วคราว หรือ Smart Visa ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรับปรุงใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคลากรต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถสูง ให้เข้ามาลงทุน มาทำงาน หรือสร้างธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในไทย (อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาคารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร)

รวมทั้งเปิดศูนย์ One Stop Service เพื่อให้บริการเป็นการเฉพาะ โดยให้เริ่มยื่นขอ Smart Visa ได้เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 61 เป็นต้นมา หลังจากดำเนินการมาได้กว่า 8 เดือน มีผู้ขอข้อมูล 1,078 ครั้ง ยื่นขอ 37 ราย และผ่านการรับรองเป็นผู้มีสิทธิได้ Smart Visa จำนวน 28 ราย รัฐบาลได้รวบรวมเอาข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาปรับปรุงหลักเกณฑ์ คุณสมบัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ดังนี้

1. เพิ่มเติมสาขาวิชาชีพ ที่สามารถขอ Smart Visa ได้อีก 3 สาขา ได้แก่ (1) การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (3) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน

2. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ถือ Smart Visa โดยให้สามารถใช้ช่องทางพิเศษ หรือ Fast Track ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองในท่าอากาศยานระหว่างประเทศทุกแห่ง ในการเข้าออกประเทศไทยได้

3. ปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอ Smart Visa ดังนี้

3.1. Smart "T" สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) จากเดิม ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ขอวีซ่าประเภทนี้จะต้องมีเงินเดือนไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็น จำแนกตามลักษณะการทำงาน คือ กลุ่มทั่วไป จะต้องมี "เงินได้" เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานใน Startup และผู้เชี่ยวชาญเกษียณอายุ ต้องมี "เงินได้" เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มาปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันฝึกอบรมเฉพาะทางและหน่วยงานของรัฐ ไม่กำหนดเงินได้ขั้นต่ำ และไม่กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำของสัญญาจ้างด้วย จากเดิมที่จะต้องมีสัญญาจ้างนาน 1 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ในกรณีของผู้เชี่ยวชาญที่มาทำงานให้หน่วยงานของรัฐ สามารถให้หน่วยงานของรัฐนั้นๆ เป็นผู้ให้การรับรองความเชี่ยวชาญและการทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แทนการที่จะต้องรอขอการรับรองจากหน่วยงานในเครือข่ายของศูนย์บุคลากรทักษะสูงเพียงอย่างเดียว เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ถือ Smart Visa ได้มากขึ้น

3.2. Smart "I" สำหรับกลุ่มนักลงทุน (Investor) จากเดิม ที่กำหนดว่า จะต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ในบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตหรือให้บริการ เปลี่ยนเป็น ให้ได้ใน 2 กรณี คือ 1.ลงทุนขั้นต่ำ 20 ล้านบาทในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานหรือกิจการร่วมลงทุนที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ และ 2. ลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท ในวิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจในโครงการบ่มเพาะ หรือ โครงการเร่งการเติบโต ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการลงทุนที่มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ Startup ในประเทศ

3.3. Smart "E" สำหรับกลุ่มผู้บริหารระดับสูง (Executive) จากเดิม กำหนด "เงินเดือน" ไม่รวมค่าตอบแทนอื่น ขั้นต่ำ 200,000 บาทต่อเดือน เปลี่ยนเป็น ให้มี "เงินได้" เฉลี่ยขั้นต่ำ 200,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาด SMEs ซึ่งอาจมีเงินเดือนไม่สูงนัก แต่ได้รับค่าตอบแทนอย่างอื่นแทน เช่น สวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ

3.4. Smart "S" สำหรับผู้ประกอบการ Startup จากเดิม กำหนดว่า จะต้องมีหลักฐานทางการเงิน คือ มีเงินฝากในบัญชีฝากประจำระยะเวลาเหลือ 1 ปีขึ้นไป เปลี่ยนเป็น ให้มีบัญชีเงินฝากในประเทศไทย ประเทศที่ตนมีสัญชาติ หรือมีถิ่นพำนัก ขั้นต่ำ 600,000 บาท ซึ่งถือครองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการพิจารณา

ส่วนเรื่องอายุของวีซ่า จากเดิม อนุมัติครั้งแรกให้ 1 ปี ขยายได้คราวละ 2 ปี โดยต้องตั้งกิจการในไทยภายใน 1 ปี เปลี่ยนเป็น แบ่งอายุวีซ่าออกเป็น 3 ระยะ คือ 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี สำหรับกรณีที่ ผู้ประกอบการได้จัดตั้ง Startup ที่เข้าหลักเกณฑ์แล้ว ก็ให้ได้รับ Smart Visa ที่มีอายุ 2 ปีได้ตั้งแต่ครั้งแรก

ในส่วนของประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับ จากการเข้ามาของผู้ได้ Smart Visa คือ กิจการและร้านค้าทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กโดยรอบพื้นที่ EEC เช่น หอพัก ร้านซักรีด ร้านอาหาร จะขายดีมากขึ้น, เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาสู่แรงงานไทยทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรม และ SMEs ไทยพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจริง ในสาขาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ มาช่วยสอน และออกแบบหลักสูตร ทั้งในห้องเรียน และในคอร์สฝึกอบรมระยะสั้น จะช่วยให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างตรงเป้าหมาย และก้าวกระโดด ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ความเป็น 4.0 ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ